- หน้าแรก
- บทความ สาระ
- รวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับ Heartrate Monitor
รวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับ Heartrate Monitor
Q : ปั่นแถวบ้านอยู่ประจำ ทำไมชีพจรบน HRM ขึ้นสูงทะลุ 200 อยู่บ่อยครั้ง (* hrm = Heartrate Monitor)
A : HRM บางรุ่น ไม่มีตัวกันสัญญานคบื่นความถี่สูง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เสาไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรศัพท์ เมื่อเราปั่นผ่าน สัญญาณเหล่านี้อาจรบกวนการทำงานของ HRM ได้ ทำให้ชีพจรในขณะนั้นขึ้นสูงกว่าปกติมากๆได้ แต่เมื่อเราปั่นผ่านไป สัญญานชีพจร จะเข้าสู่ภาวะปกติเองครับ. แต่ให้ระวังสำหรับคนที่กำลังหาค่า miximum heartrate อยู่นะครับว่า ค่าชีพจรที่ขึ้นสูงนั้นมันของจริงหรือเครื่อง hrm มัน error
หรืออาจจะเป็นกรณี คนที่ชอบซ้อมปั่นในย่าน HR สูง ๆ เป็นกลุ่มนักจักรยานที่รู้แต่การอัดลูกบันไดเร่งความเร็วสูง ๆ เอาแต่ลากคนอื่นอยู่หัวขบวน ไม่คุ้นเคยกับการปั่นเพื่อฟื้นสภาพ หรือพูดให้ถนัด ๆ ว่าไม่สนใจจะหย่อนฝีเท้าเลย เอาแต่จะกระทืบลูกบันไดอย่างเดียว ตามปกติก็คือ HRM มันทำงานได้ดีแล้ว เพียงแต่พวกนักจักรยานแรงดีพวกนี้ควรจะรู้จักทั้งการเร่งฝีเท้าและชะลอฝีเท้า เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพบ้างเท่านั้น ค่า HR ของเขาก็จะไม่สูงเกินไป
หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าขี่จักรยานด้วยความเร็วคงที่นาน ๆ ค่า HR ก็ยิ่งสูงขึ้นไม่หยุด ปรากฎการณ์นี้ถูกเรียกกันวา “คาดิแอก ดริฟต์” หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่เราขี่จักรยานท่ามกลางอากาศร้อน ความร้อนจะทำให้สูญเสียน้ำในกายมาก น้ำที่สูญเสียไปมากนี้จะทำให้ปริมาณน้ำในเลือดน้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้หัวใจต้องบีบรัดเพื่อสูบฉีดเลือดแรงขึ้น เว้นแต่เราจะดื่มน้ำเข้าไปทดแทนเพื่อรักษาปริมาณน้ำในเลือดให้คงที่ เมื่อใด ที่คุณรู้สึกดังที่ถามมาก็ต้องย้อนมาพิจารณาตัวเองเสียก่อนว่าดื่มน้ำเข้าไปพอหรือยัง เมื่อหิวน้ำขณะปั่นจักรยานแล้วยังทนหิวอยู่หรือเปล่า ถ้าพบว่าตัวเองไม่ชอบดื่มน้ำทดแทนขณะปั่นจักรยานสาเหตุแห่งหัวใจเต้นแรงจนค่า HR สูงก็มาจากการขาดน้ำนั่นเอง
Q : ทำไมบางครั้ง HRM ก็ไม่แสดงค่าใดๆเลย
A : ตามปกติปัญหานี้น่าจะเกิดจากระยะทางการส่งสัญญาณของ HRM ตามปกติทั้งจอแสดงผลและแถบรัดหน้าอกจะต้องห่างจากกันไม่เกิน 32 นิ้ว เพื่อให้สัญญาณที่ส่งมาแม่นยำชัดเจน พอจะแสดงค่าตัวเลขบนจอได้ ถ้าหากแอโรบาร์กับมอนิเตอร์บนข้อมือของคุณมีระยะไกลเกิน 32 นิ้ว จากหน้าอก มันอาจไกลเกินไปสำหรับการส่งสัญญาณชีพจรมาบนจอภาพ ในเบื้องต้นนี้แก้ไขด้วยการเลื่อนมอนิเตอร์ให้เข้าใกล้จุดส่งสัญญาณคือแถบรัดหน้าอกมากขึ้น สาเหตุที่จอไม่แสดงค่ายังอาจมาจากการมีน้ำเข้าไปทำให้ชอร์ตการทำงานของเครื่อง หรือแถบรัดหน้าอกปิดฝาไม่สนิทตอนที่เปลี่ยนถ่านจนทำให้น้ำซึมเข้าไปก็ได้ ต้องดูที่สองสาเหตุนี้ด้วย
Q : ผมไม่สามารถกดปุ่มเพื่อการใช้งานอย่างถูกต้องได้ รู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้ยาก
A : ไม่แปลกหรอก เพราะตามปกติพวกเราก็ปวดหัวกันอยู่แล้วเวลาเรียนรู้วิธีการโปรแกรมเจ้า HRM นี้ คำตอบก็คือถ้าเรารู้สึกว่ามันใช้งานยาก ก็จงหาเวลาให้ได้สักวันเพื่อทุ่มเทอ่านคู่มือและทดลองใช้งานมันให้คล่อง พยายามจำขึ้นตอนที่ปรากฏในคู่มือให้ได้ แนะนำได้เลยว่าสำหรับพวกมอนิเตอร์ราคาแพงและมีระบบการทำงานซับซ้อนนั้น เราต้องเสียเวลากับการอ่านคู่มือและทดลองใช้งานประมาณ 3 ชั่วโมง เชื่อว่าในเวลาเพียงสามชั่วโมงนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนรู้การใช้ปุ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ แล้วหลังจากนั้นก็พยายามใช้มันบ่อย ๆ ภายใน 2 สัปดาห์เราน่าจะใช้ HRM ได้คล่องแคล่ว
Q : บางครั้งค่าตัวเลขที่แสดงนั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมามากภายในหนึ่งวัน
A : HRM ของเราคือสิ่งที่บ่งบอกถึงสภาพทางร่างกายและความกดดันทางอารมณ์ได้ในชั่วขณะหนึ่ง ถ้ามันทำงานได้เป็นปกติแต่มีความเปลี่ยนแปลงมาก นั่นย่อมหมายความว่าตัวเราเองตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดีในแต่ละวัน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน HR นั้นมีอยู่หลายอย่าง เช่นการใช้ยา ความเครียดทางอารมณ์ นอนน้อย พักผ่อนน้อย การได้อยู่ในสถานที่ซึ่งภูมิอากาศแตกต่างไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหรืออยู่ในที่ซึ่งสูง – ต่ำ ต่างจากที่เคยเป็นอยู่ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ค่า HR เปลี่ยนแปลงได้
เครดิต พิชิตชน สุนทรวร เป้ มหาชัย กลุ่ม 100 rpm Classroom by เป้ มหาชัย
-
Hits13840 views
-
Tags