- หน้าแรก
- บทความ สาระ
- เรื่องของยางรถจักรยาน รู้จักยางจักรยานดีพอหรือยัง
เรื่องของยางรถจักรยาน รู้จักยางจักรยานดีพอหรือยัง
หน้าสัมผัสเล็กๆ ของยาง กับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ แม้ว่าพื้นผิวของยางที่สัมผัสกับพื้นถนนจะมีขนาดเพียงน้อยนิด แต่เชื่อหรือไม่ว่าความปลอดภัย ความนุ่มสบายในการปั่น และสมรรถนะขึ้นอยู่กับหน้าสัมผัสเล็กๆ นี้ ยางจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจาก
- ยางเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เชื่อมระหว่างรถจักรยานกับถนน
- ยางทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของรถและตัวผู้ปั่น
- ยางเป็นปัจจัยที่เพิ่มการตอบสนองในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับควบคุม และสมรรถนะ
- ยางทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกจากสิ่งกีดขวางต่างๆ บนพื้นถนน
ปกติยางจักรยานที่มีคุณภาพมาตรฐาน จะคงคุณภาพเต็ม 100% 3 ปี นับจากวันที่ผลิต(น้าทราบจากข้อมูลของผู้ผลิตยางรถจักรยานยี่ห้อหนึ่ง แต่ปัญหาที่ตามมาคือ แก้มยางรถจักรยานไม่มีระบุถึงวันผลิตยาง ที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้น่ะซิ) และ มีอายุประมาณ 1 ปี หรือ 3000 กิโลเมตร หลังจากเริ่มมีการใช้งาน อยู่ที่ว่าระยะเวลาหรือระยะทางจะถึงก่อนกัน ถ้าเกินจากนั้นแล้วคุณภาพของยางจะต่ำลงหรือหมดอายุ ซึงเป็นการไม่ปลอดภัยในการใช้งาน เราจึงไม่แนะนำให้ใช้ต่อไปครับ แต่มียางบางรุ่นทีออกแบบมาให้ใช้ได้ในระยะทางที่ไกลกว่า แต่อายุของคุณภาพเนื้อยางยังมีอายุ 1 ปี เหมือนเดิม เพียงแต่ถ้าเราใช้งานหนัก ยางประเภทนี้จะช่วยให้ประหยัดได้มากกว่า ที่มีระยะทางที่ใช้งานมากกว่าอีก 1 เท่า
ดอกยาง
การออกแบบดอกยางให้มีการตอบสนองความต้องการในการใช้งานมีหลากหลายประเภท ด้งนั้นดอกยางและหน้ากว้างของยางมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้การขี่ของเราให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เสือภูเขา
ถ้าเราต้องการใช้วิ่งบนทางเรียบเป็นหลักก็ควรจะเลือกดอกยางที่เน้นทางเรียบ ถ้าเราเน้นเล่นในแทร็คหรือทางวิบาก ก็ควรเลือกทีระบุว่าใช้ในทางวิบาก แต่ถ้าเราเล่นในทางดินเหลว ก็เลือกที่ระบุว่าใช้ในทาง MUD เราก็จะสนุกกับการขี่อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันยางบางรุ่นก็ได้ออกแบบมาให้ใช้งานได้กว้างขึ้น หรือเรียกว่ายาง ALL CONDITIONS ที่วิ่งได้ดีทั้งทางเรียบและทางวิบาก ซื่งเป็นปัญหาของนักแข่งที่เวลาเล่นในทางวิบากเล่นได้ดีแต่พอขึ้นทางเรียบก็หมดสภาพเลย ยางประเภทนี้จะแก้ปัญหาประเภทนี้ได้ดี นักปั่นบางคนถึงกับต้องมีล้อ 2 ชุดไว้สลับกันเล่นระหว่างทางเรียบและทางวิบาก
เสือหมอบ
ส่วนมากจะแบ่งออกเป็นยางซ้อมและยางเพื่อการแข่งขัน ยางเพื่อการซ้อมส่วนมากจะมีราคาถูกกว่าแต่การใช้งานสมรรถนะจะไม่เหมือนยางแข่ง ปัญหาของยางซ้อมคืออาจจะไม่ไหลลื่นเท่ากับยางแข่ง น้ำหนักทีหนักกว่า และการเกาะถนนในสภาพถนนเปียกจะไม่ดีเท่ากับยางแข่ง ส่วนยางแข่ง จะมีน้ำหนักเบาขี่ได้เบาไหลลื่นดี เกาะถนนได้อย่างมั่นใจกว่า แต่ข้อเสียคือราคาแพงกว่า และอาจจะไม่ทนนักแต่ถ้าเราอยากได้ความสนุก ความเร้าใจ ความเพลิดเพลิน และสมรรถนะที่ดี ก็ต้องจ่ายราคาที่สูงกว่า
ทัวร์ริ่ง
เป็นจักรยานประเภทเน้นระยะทางไกลหรือใช้งานทุกวัน เรายังต้องให้ความสำคัญเรื่องการบรรทุกสัมภาระด้วยครับ ถ้าไม่ได้บรรทุกหนักหรือไม่บรรทุกของเลยก็ควรที่จะเลือกยางที่มีแก้มยางบางให้การยืดหยุ่นตัวดี แต่ถ้าเรามีการบรรทุกหนักเต็มพิกัด ก็ควรที่จะเลือกที่มีแก้มยางหนาหน่อย ก็จะขี่ได้เบากว่าไม่กินแรงเรามากเมื่อขี่ไกลๆ
การตรวจสอบปัญหาของยางรั่วบ่อย
นักปั่นหลายคนคงเคยเจอปัญหาประเภทนี้จนเซ็งต่อการเปลียนยางใน การที่จะลดปัญหาพวกนี้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
- ดูว่ายางของเราหมดอายุรึยัง ถ้ายางหมดอายุแล้วก็ควรเปลี่ยนครับ เพื่อความเพลิดเพลินและประสิทธิภาพรวมถึงความปลอดภัยในการขับขี่ครับ
- ตรวจดูเทปรองขอบล้อที่ปิดรูหัวลวดว่าอยู่ในสภาพปรกติรึเปล่า ขาดรึเปล่า เบี้ยวรึเปล่า แข็งตัวแล้วรึเปล่า เพราะบางทีล้อที่มากับรถสำเร็จรูปในระดับล่างมักจะใช้ยางในแทนเทปรองขอบล้อ ก็จะหมดสภาพได้เร็วกว่า บางคนไปเปลี่ยนมาใหม่แล้วก็ยังเกิดปัญหาอีกให้ตรวจสอบดูว่าใส่มาตรงร่องรึเปล่าถ้าไม่ตรงก็ปรับให้ตรงครับ โดยเฉพาะยางหน้าเล็กและยาง เสือหมอบที่ต้องใช้แรงดันลมสูง เทปรองล้อจึงมีส่วนมากในการรั่วซึม
- ยางที่ถูกของมีคมตำมา ก่อนใส่ยางในใหม่เข้าไป ให้ลูบดูภายในของยางนอกก่อนว่าได้เอาหนามออกรึยัง จะได้มั่นใจได้ว่าใส่ยางในใหม่เข้าไปแล้วจะไม่เกิดปัญหาอีก แต่ถ้าเป็นแผลรูใหญ่ก็ควรจะเปลี่ยนยางนอกดีกว่าครับเเพราะแรงดันลมในยางจักรยานมีมากแล้วมันจะดันยางในปูดในรอยนั้นและก็ลมซึมออกครับ
เท่านี้ก็หมดปัญหาไปอีกนานครับ เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองครับ ถ้าไม่อยากทำก็ส่งไปให้ร้านจักรยานช่วยตรวจสอบ เทปรองขอบล้อมีความสำคัญมากของดีๆราคาก็ไม่ได้แพงกว่ายางใน เทปรองที่มีคุณภาพดีจะผลิตด้วย POLYURETHANE หรือเป็นเทปผ้าฝ้ายCOTTON ครับ
กันหนาม อีกหนึ่งตัวช่วยลดความเสี่ยง
กันหนามก็เป็นอุปกรณ์ลดปัญหาของยางได้มาก เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เดินทางไกลและต้องการลดความเสี่ยง กันหนามที่จำหน่ายในตลาดมี 3 ประเภท
- ผลิตด้วยpolyurethane จะหนา และมีน้ำหนักมาก อายุการใช้งานจะสั้นกว่าประเภท เคฟล่าหรือสักหลาด แต่ก็ลดความเสี่ยงได้ดี
- ผลิตด้วยสักหลาด น้ำหนักเบา ราคาถูก อายุการใช้งานทนทาน แต่ การป้องกันจะต่ำกว่า POLYURETHANE และ เคฟล่า
- ผลิตจากเคฟล่า น้ำหนักเบา อายุการใช้งานทนทาน กันหนามได้ดีเยี่ยม แต่ราคาจะสูงกว่าแบบสักหลาดและpolyurethane ของ PANARACER จะเป็นแบบผลิตจากเคฟล่าที่ชื่อทางการค้าคือ FLATAWAY
ดูอย่างไรว่ายางจักรยานหมดอายุการใช้งานแล้ว
ยางที่เสื่อมสภาพคงอาศัยหลักการเดียวกับยางรถยนต์ได้ครับคือหากสภาพภายนอกยังดีอยู่ ยางเก่ามักจะกระด้างขึ้น ดอกยางหรือผิวยางแข็งกระด้าง เกาะถนนน้อยลง พูดง่ายๆ คือปั่นฯ แล้ว "รู้สึกไม่เหมือนเดิม" นะครับ แต่ยางจักรยานที่เสื่อมสภาพจริงๆ มักมีอาการ ผิวหลุดร่อน หรือ แตกลายงาให้เห็นที่ผิวด้านนอกครับ ถ้าดูข้อมูลอื่นประกอบด้วยหากผิวด้านในเสื่อมสภาพตามไปด้วยก็คงต้องเปลี่ยนยางนอกใหม่ทั้งเส้นแน่นอนครับ แต่ก็มียางบางเส้นที่ผิวด้านนอกเสื่อมสภาพไปแล้วแต่ชั้นผ้าใบยังคงสภาพดีอยู่ หากเสียดายก็ยังพอเอามาใช้ปั่นฯ ลำลอง ใกล้ๆ บ้านหรือใช้ซ้อมขาเล่นได้ครับ
อันที่จริงแล้ว ยางรถยนต์หรือยางจักรยานนั้น น้าว่าจะใช้ระยะทางเป็นตัวกำหนดอายุการใช้งานก็คงจะยากนะครับ เพราะเนื้อยางและวัสดุที่ใช้ผสมในเนื้อยางแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน ทำให้ยางมีความคงทนที่แตกต่างกัน อีกทั้งสภาพถนนที่เราใช้งานก็เป็นส่วนสำคัญต่อสภาพของยางนะ
ความดันลมยางที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียการควบคุมรถ และช่วยไม่ให้ยางสึกก่อนเวลาอันควร รวมทั้งช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อโครงสร้างภายในของยางอีกด้วย โดยปกติแล้ว ความดันลมยางจะลดลงตลอดเวลายิ่งเป็นยางประเภทรถถนน ที่มีแรงดันลมสูงยิ่งลดเร็ว เนื่องจากการซึมของลมออกมาจากชิ้นส่วนต่างๆ ของยางตามธรรมชาติ หรือแม้แต่การที่อุณหภูมิในบรรยากาศลดลง ดังนั้น การตรวจสอบลมยางทุกๆครั้งที่ออกปั่น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- ความดันลมยางอ่อน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียหายของยาง
- ความดันลมยางที่สูงกว่าคำแนะนำของผู้ผลิต จะลดอายุการใช้งานของยางลง
- ความดันลมยางที่ถูกต้อง จะช่วยให้ยางแสดงสมรรถนะออกมาได้เต็มที่
เราสามารถตรวจสอบความดันลมยางที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิตได้ที่แก้มของยางจะมีลิมิตขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ ให้เติมตามนั้นครับ
วิธีสังเกตว่ายางน่าจะหมดสภาพและปลดระวางได้แล้วคือ
- ยางสึกหรอ อันนี้ดูด้วยตาก็บอกได้ครับ เช่น หน้ายางปกติมันจะโค้งกลม แต่นี่มันเริ่มแบน เป็นสัน เป็นเหลี่ยม แบบนี้ก็คงจะต้องใส่ใจบ้าง หรือ บางทีสึกจนดูออกว่าเนื้อยางหายไปเยอะก็เปลี่ยนเถอะครับ บางยี่ห้อมีรูกลมๆอยู่ที่ผิวยางเพื่อเป็นตัวบอกว่า ดอกยางถูกใช้จนหมดแล้ว รูที่ว่านี้ก็จะค่อยๆตื้นขึ้นเรื่อยๆ
- ยางแตกลายงา มีรอยปริ รอยร้าวที่ผิว แก้มยาง ก็บอกได้เลยว่า วัสดุกำลังเสื่อมถอย น่าจะเปลี่ยนได้แล้ว , เพื่อนๆควรระวังเรื่องการซื้อยางนอกมือสองมาด้วยบางครั้งมองภายนอกดูดีมาก แต่พอเอามือบีบแก้มยางให้มันพับเป็นสัน ก็จะเห็นรอยปริเล็กๆ ร้าวๆ เต็มไปหมด แบบนี้ก็ไม่ควรใช้ น้าเคยเก็บยางทั้งเสือภูเขาและเสือหมอบไว้หลายเส้น แบบว่าเก็บไว้นาน ไม่ได้ใช้ มันก็เป็นแบบนี้ทั้งหมดคือมันก็หมดสภาพไปเอง สุดท้ายก็ต้องทิ้ง เสียดายมาก หน้ายางยังดีอยู่เลย
- ยางเสียคุณสมบัติในการยึดเกาะผิวถนน เช่น เอามือลูบหน้ายางดูแล้วรู้สึกลื่นไม่ฝืด ผิวเป็นมัน หรือ ตามผิวยางมีร่องรอยเสียหายจากการถูกแก้วบาด หินทิ่มแทง เป็นบาดแผลในลักษณะที่ไม่ควรนำมาใช้งานต่อได้
- อายุยางมากกว่า 2 ปี ตั้งแต่ที่เพื่อนๆซื้อมาจากร้านค้า ที่จริงอายุยางจักรยานมี 3 ปีนะครับ แต่น้าเผื่อไว้ให้อีกอ1 ปี เพราะกว่ายางที่ผลิตจะส่งมาถึงร้านค้า ต้องใช้เวลาเดินทางยิ่งเป็นยางจากต่างประเทศด้วย บางยี่ห้อก็ค้างอยู่ในสต๊อค เป็นเวลานานกว่าจะถึงมือร้านค้าตัวแทนและกว่าจะถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ
สรุป
น้าให้ความสำคัญกับยางนอกจักรยานเป็นอย่างมาก เพราะนั่นเป็นส่วนแรกของรถจักรยานที่สัมผัสพื้นผิวถนนและเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้รถจักรยานขับเคลื่อนไปข้างหน้า การเดินทางจะราบเรียบ สดุด หรือปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ยางนอกนี่แหละครับ สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เพื่อนนักปั่นได้รับอุบัติเหตุกันบ่อยๆก็เรื่องยางนี่แหละครับ เช่น ยางเสื่อมสภาพ ยึดเกาะถนนได้ไม่ดี ทำให้แหกโค้งบ้าง ลื่นไถลบ้าง ยังไงก็ก้มลงไปมองยางสักนิด ช่วยเซฟชีวิตเพื่อนๆได้นะครับ
สดท้ายน้าหวังว่าข้อมูลพวกนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับเพื่อนๆนักปั่นทุกคน ส่วนที่จะเลือกซื้อยางยี่ห้อไหนก็พิจารณากันเอง ขอให้ถูกใจและตรงกับความต้องการนะครับ
เครดิต พิชิตชน สุนทรวร เป้ มหาชัย กลุ่ม 100 Rpm Room