- หน้าแรก
- บทความ สาระ
- วิธีเอาชนะความเกียจคร้านในการฝึกซ้อม ปั่นจักรยาน
วิธีเอาชนะความเกียจคร้านในการฝึกซ้อม ปั่นจักรยาน
พอดีมีน้องคนหนึ่งถามเรื่องนี้มาเพื่อขอคำแนะนำ เลยเป็นเหตุจุดประกายให้น้าเขียนบทความมาให้เพื่อนๆในกลุ่มได้อ่านกัน เผื่อจะตรงกับใจของใครหลายๆคน (รวมทั้งน้าเป้เองด้วย)ต้องขอขอบคุณน้องผู้ถามมาด้วย เพราะบทความต่างๆก็เขียนมานานจนแทบจะครอบคลุมทุกเรื่องแล้วสำหรับจักรยาน ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว กำลังหาแรงกระตุ้นที่จะเขียนอยู่พอดี Thank You
* ความขี้เกียจ ความเกียจคร้าน ในการฝึกซ้อมหรืออะไรก็ตามที่เป็นการไม่อยากทำอะไรเลยทั้งๆที่เราจะต้องทำ ล้วนแต่เป็นสัญญาณของความไร้สรรถภาพหรือหนีงานทั้งสิ้น บางครั้งความขี้เกียจก็เกิดขึ้นเวลาที่เพื่อนไม่อยากเผชิญหน้าอะไรบางอย่าง เช่น การฝึกซ้อมที่น่าเบื่อ ซ้ำซาก จำเจ หรืออาจไม่อยากเจอหน้ากับใครสักคน ที่ปั่นอยู่กับเรา เช่น คนๆนั้นขี้อวด ขี้คุย ชอบทับถม หรือ เก่งกว่าเราตลอด หรือบางครั้งแค่อาจจะแค่รู้สึกเหนื่อย เปลี้ยเพลียหัวใจ หรือกำลังใจถดถอยจนไม่อยากจะทำอะไร ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ความขี้เกียจก็ไม่ใช่ลักษณะนิสัยที่ควรมีเลยิไม่ใช่แม้แต่ด้านกีฬานะครับ รวมทุกๆอย่างเลยโดยเฉพาะหน้าที่การงาน ตามน้ามาดูครับ
- เราควรหาปัญหาที่แท้จริงก่อนทุกครั้งที่เราเริ่มจะขี้เกียจ ลองถอยออกมาแล้วประเมินสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ความขี้เกียจนั้นเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง อะไรคือต้นเหตุของการขาดแรงกระตุ้น เราเหนื่อย กลัว เจ็บปวดจากการฝึกซ้อมหรือเปล่า หรือแค่ไม่มีแรงบันดาลใจและรู้สึกค้างคาใจในบางเรื่อง จริงๆ แล้วปัญหาการค้างคาเป็นปัญหาเล็กกว่าที่เพื่อนคิด เราอาจสามารถผ่านมันไปได้ง่ายกว่าที่ตัวเรารู้เสียอีก
ไม่ว่าอย่างไร พยายามอย่างเต็มที่ที่จะหามันให้เจอ ส่วนมากมักจะเป็นปัญหาหรือรายละเอียดเพียงอย่างเดียว การหาต้นเหตุให้เจอเป็นวิธีเดียวที่เราจะบ่งชี้มันได้ และเมื่อบ่งชี้มันได้แล้ว เพื่อนก็จะสามารถแก้ไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ - มองให้ชัดถึงปัญหาที่แท้จริง ขณะที่เราคิดถึงต้นเหตุของความขี้เกียจ ลองจดจ่ออยู่กับมัน เราอาจจะแก้ไขมันได้ไม่เร็วทันใจ แต่การแก้ไขนี้จะอยู่ตลอดไป ลองดูวิธีเหล่านี้สิ:
หากเราเหนื่อย พยายามทุ่มเทเวลาให้กับการพักผ่อน ทุกๆ คนอยากมีเวลาสบายๆ กันทั้งนั้น หากตารางเวลาการฝึกซ้อมไม่เอื้ออำนวย เราอาจจะต้องยอมเว้นไปบ้าง แต่ผลที่จะตามมานั้นจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
หากเรามีงานท่วมท้น ถอยออกมาหนึ่งก้าว จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นได้อย่างไร เราสามารถแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ แล้วทำให้งานน้อยลงได้หรือไม่ เราสามารถจัดลำดับก่อนหลังแล้วค่อยๆ จัดการทีละอย่างได้หรือไม่
เพื่อนๆกลัวที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองหรือเปล่า กลัวการทำตามจุดมุ่งหมาย และการไม่มีความสุขในการฝึกรึไม่
หากเราไม่มีแรงบันดาลใจ ลองดูว่าเราสามารถเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของได้หรือไม่ เราสามารถพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไป เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว หรือ หาแรงบันดาลใจเพิ่ม ด้วยการเข้ากลุ่มจักรยานอื่นๆบ้าง หาสถานที่ในการฝึกซ้อมใหม่ๆบ้าง ดูการแข่งขันจักรยานทั้งในและต่างประเทศ หรือ หาอ่านข้อมูลของนักกีฬาที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จ - บางครั้งความคิดของตัวเรากลับทำให้เกิดความคิดในแง่ลบ การคิดว่า เช่น " เราไม่เก่ง เราไม่แข็งแรง สู้ใครก็ไม่ได้ " หรือ " รถไม่แพง แรงก็ยังไม่มีอีก" ถ้าคิดดังนี้กำลังใจหายแน่ ตัดหนทางได้เลย ดั้งนั้นเราควรเลิกคิดแบบนี้ เราเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมตัวเองได้
ทุกๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่า ฝึกอย่างไรก็ไม่มีประสิทธิภาพ ลองมองมุมกลับให้เป็นแง่บวก "เช้านี้เราฝึกได้นะ แม้อาจไม่เต็มที่นัก แต่การฝึกทุกๆครั้ง ช่วยเพิ่มความสามารถของเราได้ ถ้าฝึกต่อๆไปเราจะผ่านไปแบบสบายๆ" ความคิดแง่บวกสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเราได้ - คิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการฝึกซ้อมเข้าไว้ แทนที่จะนอนอืดอยู่บนเตียงตอนเช้า จะเป็นอย่างไรหากเราลุกจากที่นอนแล้วออกไปฝึกซ้อม และลองมองผลที่เราจะได้รับในทำสิ่งเหล่านี้ทุกวันใน 6 เดือนข้างหน้า หากเราทำแบบนั้นได้ก็เป็นเรื่องที่ยอดมาก
- ตั้งเป้าหมายใหม่ที่เราน่าจะทำได้ เราอาจจะมีอะไรบางอย่างที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ แต่ยิ่งมองมันยิ่งสูงจนยากที่จะทำได้ เราควรลดเป้าหมายลงมาบ้างให้มีความเป็นไปได้และสามารถทำได้จริง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราทำได้จริงๆ เช่น เดิมเราตั้งใจว่าขอฝึกซ้อมเพื่อเป็นแชมป์ประเทศไทยในรุ่นอายุ แต่จนแล้ว จนเล่า ผ่านไปหลายปี เสียทั้งเวลา และทุนทรัพย์ ก็ไม่สำเร็จเสียที กรณีนี้อาจลดเป้าหมายลงมาบ้าง เพื่อสร้างแรงใจขึ้นไปใหม่ เช่น ขอแค่แชมป์การแข่งขันระดับ อบต. ก่อนก็ได้นะ
- สร้างแรงจูงใจให้ตนเองตลอดเวลา บอกตัวเองเสมอว่าเราสามารถเราทำได้. การกระทำสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ได้เพราะเรามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดถ้ารู้สึกว่าติดขัด ลองลุกขึ้นมาตะโกนทันที ว่าเราทำได้ เราทำได้ เราไม่แพ้ใคร และย้ำตัวเองว่า "ถึงแม้นิสัยเดิมๆ ที่ชอบหยุดอยู่เฉยๆ ตอนนี้เราลุกขึ้นมาสู้แล้วและเราจะฝึกอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะขยัน " บอกตัวเองด้วยประโยคบอกเล่าในปัจจุบัน ไม่ใช่ประโยคเงื่อนไข หรืออนาคตหรืออดีต และไม่มีการพูดว่า"ถ้าเกิดเราทำไม่ได้ล่ะ...” คำพูดนี้มีไว้สำหรับคนเกียจคร้านที่ไม่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น
- เมื่อเรามีกำลังใจในการฝึกซ้อมแล้ว อย่างลืมเรื่องสำคัญ ก็คือเราต้องทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย อาหารขยะไม่สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการที่ร่างกายต้องการในการตื่นตัวได้ ร่างกายที่ไร้พลังงานจะทำให้เรารู้สึกขี้เกียจและเฉื่อยชา ไม่อยากซ้อมต่อไป เพราะไม่สามารถพัฒนาได้ เป็นความคิดที่ดีที่จะไปตรวจสุขภาพด้วย อย่างน้อยปีละครั้ง
- เตรียมรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ. ทำความสะอาด เช็ดถูให้ใหม่ แวววาว น่าใช้ ทำให้เราอยากใช้มันอยู่ตลอดเวลา มีเงินเหลือ ก็ซื้ออุปกรณ์มาอัพเกรดมันบ้าง ช่วยให้เราอยากปั่นมันยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้น เครื่องแต่งกายที่สวยงามเหมาะสม กับการปั่นก็เป็นแรงดึงดูดอีกอย่างนึงด้วย
- ให้รางวัลกับตัวเองแม้เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้และพยายามทำแล้ว การให้รางวัลกับตัวเองสม่ำเสมอจะทำให้การฝึกซ้อมนั้นสนุกขึ้นและทำให้เราไม่หลงทาง และไม่ขี้เกียจ เช่น
ตั้งเป้าหมายง่ายๆว่า วันอาทิตย์นี้ จะปั่นให้ครบ 100 กม. ถ้าครบจะพาตัวเองและครอบครัวไปดินเนอร์ที่ภัตตาคารหรูสักที่หนึ่งหรือ เดือนนี้จะปั่นให้ครบ 1,000 กม. ถ้าเราสามารถทำได้ จะให้รางวัลตัวเองเป็นชุดจักรยานสักชุดหรือหมวกใบใหม่สักใบ
เคล็ดลับ
- ดื่มน้ำเย็นเมื่อเรารู้สึกขี้เกียจ น้ำจะช่วยกระตุ้นสมอง เพิ่มความอยากขยับเขยื้อนและทำสิ่งต่างๆ
- หลีกเลี่ยงน้ำตาลและอาหารหวานที่มากเกินไปซึ่งจะทำให้ร่างกายไปเผาผลาญน้ำตาลเหล่านี้แทนที่จะเป็นไขมัน น้ำตาลสังเคราะห์ (ไม่มีไฟเบอร์)จะทำให้เรามีพลังงานเพิ่มขึ้นในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นน้ำตาลในเลือดจะต่ำลง เราจะรู้สึกเหนื่อยและหิว การทานอาหารที่ไม่ดีก็สามารถทำให้เกิดความขี้เกียจได้
- นอนให้น้อยลงบ้างนะ
- เตือนตัวเองเรื่องเป้าหมายและสาเหตุที่คุณทำสิ่งนี้อยู่เสมอ ลองคิดถึงข้อเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวหากเราไม่ทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ จะทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นขึ้นมาทันที
- อยู่กับคนที่ทำให้เราฮึกเหิม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักปั่น โค๊ช หรืออาจจะผ่านสื่อ เทคโนโลยี หรืออื่นๆ ความรัก การสนับสนุน และกำลังใจจากผู้อื่นสามารถปลุกพลังในตัวเราได้
- ลองคิดถึงการเลิกดูโทรทัศน์ เฟซบุ๊ค ความทุกข์นั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับ เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกมากที่จะไล่ล่าสิ่งต่างๆ ที่น่าตื่นเต้น เมื่อไม่มีสิ่งยั่วยวนเหล่านั้น
- การนั่งสมาธิจะช่วยลดความขี้เกียจโดยการพัฒนาระดับความตื่นตัวและการอยู่กับปัจจุบัน เพราะเราต้องจดจ่ออยู่กับลมหายใจ กิริยา และสัมผัสทั้งห้า รวมถึงต้องควบคุมจดจ่อกับความคิด อารมณ์ และระดับของพลังงานในแง่บวก
คำเตือน
หากคำแนะนำข้างต้นไม่สามารถลดความเกียจคร้านหรือเพิ่มความอยากทำสิ่งต่างๆ ในจิตใจได้ หากเพื่อนๆยังรู้สึกพ่ายแพ้และไม่มีคุณค่า อาจจะมีอาการซึมเศร้าที่ร้ายแรงกว่า ควรจะรีบพบจิตแพทย์สาวๆสวยๆทันที
เครดิต พิชิตชน สุนทรวร เป้ มหาชัย กลุ่ม 100 Rpm Room