- หน้าแรก
- บทความ สาระ
- พัฒนาการปั่นจักรยานให้สมบูรณ์ขึ้นด้วย "การค้นหาจังหวะการปั่นของตัวเอง"
พัฒนาการปั่นจักรยานให้สมบูรณ์ขึ้นด้วย "การค้นหาจังหวะการปั่นของตัวเอง"
ทุกคนควรจะมีจังหวะการปั่นของตัวเอง ว่าจะกำหนดการปั่นของตัวเองอย่างไรให้ได้งานมากที่สุดโดยใช้แรงต่ำสุดซึ่งจังหวะของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่ฝึกการปั่นพื้นฐานมาอย่างดีแล้วจังหวะการปั่นจะใกล้เคียงกัน จะต่างกันบ้างไม่มากนักครับ
ดังนั้นทุกคนต้องทดลองหาจังหวะนี้ดูด้วยตัวเองครับ
...โดยทั่วไปสำหรับการปั่นทางเรียบให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดและใช้แรงน้อยสุด ถ้าเป็นทางไกลเกิน 100 กมขึ้นไป รอบขาที่ 90 รอบ
จะเหมาะสมที่สุด จะปั่นได้ไกลโดยใช้แรงของกล้ามเนื้อขาไม่มากเกิน และหัวใจเต้นไม่สูง ทำให้ปั่นได้ไกลและนาน
...ถ้าเป็นการแข่งขัน ไม่ค่อยมีกฏเกณฑ์ตายตัวว่าจะใช้รอบขาเท่าไรจึงเหมาะสมอยู่ที่รูปแบบของการแข่งขันและความถนัดของแต่ละคน แต่โดยมากจะใช้รอบขาเกินกว่า 100 รอบ ขึ้นไปสำหรับเสือหมอบและ 80-100 รอบสำหรับเสือภูเขา และช่วงสปริ๊นท์ รอบขาจะเกิน 120 รอบขึ้นไป ยกเว้นการแข่งขันแบบ time trial ระยะสั้นนะครับ ที่นิยมใช้รอบขาต่ำกว่า 100 รอบ
...ส่วนการปั่นขึ้นเขารูปแบบการปั่นก็ต้องอีกแบบหนึ่งต่างกับทางเรียบ และนักปั่นผู้จริงจัง มีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่ต้องหาจังหวะการปั่นสำหรับการขึ้นเขาให้ได้ ว่าควรจะปั่นรูปแบบไหนให้เซฟแรง และไปถึงจุดหมาย นอกจากรอบขาแล้ว(ขึ้นเขาโดยมากใช้รอบขาประมาณ 60-90 รอบ) จังหวะในการนั้งปั่น ยืนปั่น จังหวะการกดและดึงลูกบันได ต้องรู้ด้วยว่าต้องเป็นจังหวะไหน ควบคู่ไปกับจังหวะการหายใจต้องสัมพันธ์กันกับการปั่นทุกๆจังหวะด้วย (สำคัญนะครับ) ....เป้ มหาชัย
ตัวอย่าง....สามารถนำไปใช้ได้นะครับ...*จังหวะการหายใจของ อ. ปราจิณ รุ่งโรจน์
- การหายใจในการขี่ทางเรียบ : จะใช้การปั่นแบบ 8 สะโตก คือเมื่อหายใจออก( เร็วปานกลาง ) กดลูกบันไดให้ได้ 4 ครั้ง และเมื่อหายใจเข้า ( ช้ากว่าหายใจออกเล็กน้อย ) ให้ดึงหัวเข่าขึ้นให้ได้ 4 ครั้ง จังหวะการหายใจออกถีบ 1 2 3 4 ครั้ง หายใจเข้าดึงเข่าขึ้น 5 6 7 8 ครั้ง
- การหายใจขณะขี่ทางขึ้นเขา : จะใช้การปั่นแบบ 4 สะโตก คือ เมื่อหายใจออก ( เร็วขึ้น ) ให้ถีบลูกบันไดให้ได้ 2 ครั้ง และเมื่อหายใจเข้า ( ช้าปานกลาง )ให้ดึงหัวเข่าขึ้นให้ได้ 2 ครั้งเช่นกัน จังหวะการหายใจ ( 1 2 - 3 4 )
- การหายใจขณะขึ้นเขาชัน : จะใช้การปั่นแบบ 2 สะโตก คือเมื่อหายใจออก( เร็วกว่า )ให้ถีบลูกบันไดลงหนึ่งครั้ง และดึ่งหัวเข่าขึ้นหนึ่งครั้งเมื่อหายใจเข้า( เร็วกว่า ) จังหวะการหายใจ ( 1-2 )แบบนี้จะสัมพันธ์กับการปั่นลูกบันไดตลอดเวลา
- การหายใจขณะสปริ้นท์ : จะเป็นการปั่นลูกบันไดแบบ2 สะโตกเช่นกันแต่การหายใจจะเร็วกว่าทุกๆแบบที่กล่าวมาข้างต้น
หมายเหตุ : การหายใจที่นุ่มนวลตลอดเวลาต้องอาศัยสมาธิและการฝึกฝน ( นุ่ม-ลึก ) ทำให้ประสิทธิภาพการปั่นจักรยานดีขึ้น ถ้ารู้จักการใช้จังหวะการปั่นลูกบันไดให้สัมพันธ์กับการหายใจเข้า - ออกข้างต้น
สรุปว่านักปั่นทุกคนถ้าค้นหาจังหวะการปั่นของตนเองได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปั่นแบบไหน คนๆนั้นก็จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้ดีและเร็วกว่าคนอื่นครับ
เครดิต พิชิตชน สุนทรวร เป้ มหาชัย กลุ่ม 100 Rpm Room-
Hits49319 views
-
Tags