- หน้าแรก
- บทความ สาระ
- ทำไมนักปั่นจักรยานๆหลายคนถึงไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตนตั้งไว้
ทำไมนักปั่นจักรยานๆหลายคนถึงไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตนตั้งไว้
..จากประสบกาณ์จริง ไม่ต้องอิงตำราใดๆ ในการฝึกสอนที่น้าสอนตรงของลูกศิษย์กว่า 200 ราย ทั่วประเทศและจากการตอบปัญหาข้อซักถามต่างๆจากเพื่อนๆ
1. ตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป โดยไม่ดูถึงความเป็นจริงแห่งตน
เช่น ตั้งเป้าหมายว่าต้องเป็นแชมป์ประเทศไทยในรุ่นอายุ30 ปี ให้ได้ใน1 ปี แต่ตนเองมีหน้าที่การงาน ทำมาก มีเวลาฝึกซ้อมน้อย วันหนึ่งๆจัดเวลาฝึกได้แค่ไม่เกิน 2 ชม. แถมซ้อมได้แค่อาทิตย์ละไม่เกิน 4 วัน เวลากิน เวลานอน เวลาพักผ่อนย่อมน้อยตามไปด้วย แบบนี้ แชมป์ อบต. ยังยากเลยครับ
2. ขี้เกียจตัวเป็นขน จักรยานเป็นกีฬาของคนขยันเท่านั้น คนที่ไม่ขยันฝึกซ้อมไม่มีทางประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตนเองได้ โปรแกรมฝึก 5 วันใน 1 สัปดาห์ ลาซะ2 ..อีกทั้งน้องป่วย ..ช่วยงานทางบ้าน เมื่อวาน sick แบบนี้ล่ะนะ > จบเห่ !
3. ขาดแรงจูงใจที่ดี การฝึกซ้อม
แรงจูงใจ ( Motivation) คือ ตัวกำหนดความแรงความตั้งใจและควบคุมพฤติกรรมของนักกีฬา แรงจูงใจเป็นตัวกำกับพฤติกรรมที่จะให้ถอยหนี หรือเผชิญหน้าสถานการณ์ต่างๆ และความตั้งใจที่จะประพฤติกรรมหรือพยายามที่จะบรรลุตามเป้าประสงค์ ดังนั้น แรงจูงใจจึงเป็นตัวกำหนดระดับความตั้งใจ ความพยายามที่จะกระทำ มีความมุ่งมั่นที่จะกระทำ หรือปฏิบัติ ดังนั้น แรงจูงใจจึงมีผลต่อการฝึกซ้อม และช่วงการเป็นนักกีฬานานๆ ซึ่งผลสุดท้ายคือมีผลต่อคุณภาพความสามารถในการฝึกซ้อม
แรงจูงใจภายใน แรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตัวนักปั่นเอง ก็คือความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง การรับรู้ว่าตนมีความสามารถที่จะประสบผลสำเร็จ มีความก้าวหน้าในกิจกรรมที่ตนเองกระทำอยู่ ความต้องการ หรือความพยายามที่จะเอาชนะการฝึกฝน ที่ท้าทายความสามารถหรือบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
หรือแรงจูงใจภายนอก คือ เงินรางวัล ตำแหน่งแชมป์ การได้รับแรงเสริมจากโค้ช คนใกล้ชิด ผลย้อนกลับ และชื่อเสียงการยอมรับจากผู้อื่น จึงทำให้ต้องการที่จะประสบผลสำเร็จจากการเล่นกีฬา
คนใกล้ชิด นี่สำคัญนะครับ เช่น ลูกและภรรยาหรือสามี ที่บ้าน เท่าที่สัมผัสมา น้ายกตัวอย่างเลยดีกว่า
โจ สิงห์นักปั่น เป็นผู้มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในกีฬาจักรยานมาก ทุกอย่างมีพร้อมอยู่ในตัว โจ เอง แต่ทุกครั้งที่โจออกไปฝึกซ้อมกลับมาถึงบ้าน เดินเข้าประตูมา โดนยิงคำถามจาก ภรรยาทันที
ภรรเมีย : ไอ้คุณโจ แน่ใจนะว่าไปปั่นมา
คุณโจ : แน่ซิ ที่รัก มาดูที่ไมล์สิ
ภรรยา : โอ๊ย ใครจะไปดูรู้เรื่อง .. อย่าให้รู้นะว่าไปอย่างอื่น
คุณโจ : มีอะไรกินบ้าง จ๊ะที่รัก หิวจะแย่แล้ว
ภรรยา : ตีนผีต้มส้ม ชะอมร้อยรอบ ปลากรอบเบียงคี่ เอ็นวี่ผัดพริกขิง ดุมคิงต้มยำ
...เจอแบบนี้แลัวแรงจูงใจจะเหลือมั๊ยเนี่ย
4. ทนความหน้าเบื่อของการฝึกซ้อมไม่ได้
การฝึกซ้อมจักรยาน เป็นการฝึกซ้อมที่ต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก กว่ากีฬาอื่น บางครั้งมากกว่าหลายเท่าตัวนัก โดยเฉพาะก้าวแรกของการฝึกซ้อมคือ การสร้างความทนทาน (Endurance) ที่เป็นพื้นฐานของกีฬาจักรยาน ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างนานมาก ครั้งละเป็นชั่วโมง และหลายๆชั่วโมง ยิ่งเป้าหมายสูง เวลาย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งตรงนี้แหละที่เกิดความน่าเบื่อเกิดขึ้น ใครใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่มุ่งมั่นมากพอ หลุดครับ
..นักเรียนที่เริ่มฝึกพื้นฐานกับน้าตั้งแต่เริ่มต้น มีเปอร์เซนต์ ที่จะผ่านจุดนี้มากกว่า คนที่มีประสบการณ์การปั่นมาแล้วครับ
5. ไม่เชื่อมั่นในตัวผู้ฝึกสอนหรือโค๊ช ตามความเป็นจริงผู้ที่ตกลงใจที่จะเข้ารับการฝึก ย่อมต้องพิจารณาเลือกและกลั่นกรองผู้ฝึกสอนมาแล้ว ดังนั้นผู้ฝีกซ้อม ควรจะมีความเชื่อมั่นในวิธีและขั้นตอนในการสอนของผู้ฝึกนั้นๆอย่างน้อยควรทอดเวลาสักระยะเพื่อพิสูจน์ผลงานทั้งของผู้ฝึกสอนและของตัวเอง ในเมื่อได้ปฏิบัติตามการฝึกสอนนั้นทุกขั้นตอนแล้ว ยังไม่เกิดการก้าวหน้าพัฒนาขึ้นค่อยตัดสินใจครับ
...มีอีกข้อที่น้าเจอเป็นประจำคือ คือ ผู้เรียนไขว้เขว จากการได้พูดคุย สอบถามหรือได้รับคำแนะนำจากคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ฝึกสอนตัวเองโดยตรง ซึ่งตรงนี้ วิธีการฝึกสอนของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เมื่อฟังหลายฝ่ายเข้า เลยสับสน ไปไม่เป็น ดังนั้น ควรเชื่อมั่นในตัวผู้สอนหลักก่อนครับ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามในการที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่อย่างใด หรือ ผู้เรียนมีความสามารถที่จะประยุกต์วิธีฝึกแบบอื่นมาใช้ร่วม แต่ควรปรึกษาผู้ฝึกสอนก่อนดีกว่า
...โดนขัดแข้ง ขัดขาจากเพื่อนในกลุ่มที่ร่วมปั่นอยู่ด้วยกัน เช่น
เสือเหี้ยม : ไอ้โหย ! เองจะปั่นซอยขายิกๆอยู่ทำไมวะ ต้องอย่าข้านี้ ขึ้นจานใหญ่ เฟืองหลังเล็กสุด กดหนักๆไปเลยรถวิ่งฉิว ไม่เหนื่อยด้วย เองเห็นป่าว
เสือโหย : ไอ้เหี้ยม ครูข้าสอนมาแบบบนี้ให้ฝึกรอบขาช่วยก่อน เดี๋ยวค่อยเพิ่มความหนักทีหลัง
เสือเหี้ยม : มึงไปเชื่ออะไรวะ ไม่เห็นรึ รถข้าไปเร็วปานจรวด ไม่เหนื่อยด้วย แต่เองเอาแต่ซอยขา หน้าแดงเชียวมึง
..,เจอแบบนี้ หลายๆครั้งเข้า ใครใจไม่มั่นคงพอหลุดครับ คนที่ไม่มีหลักการในการฝึกซ้อม จะไม่เข้าใจถึงเรื่องการฝึกซ้อมที่ถูกต้องนั่นเองครับ
6. สุขภาพส่วนตัว บางคนอาจมีโรคประจำตัว หรือมีความผิดปกติบางอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฝึก หรืออาจจะถึงขั้นขัดขวางต่อการฝึกซ้อมได้เลย หรือทานยาบางชนิดที่มีผลต่อสมรรถภาพทางกาย ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อการฝึกได้เต็มที่
..นักปั่นที่มีโรคภัยแฝงอยู่ย่อมไม่สามารถฝึกซ้อมได้เต็มที่ เหมือนเพื่อนคนอื่นได้ ให้ประมาณตัวไว้ด้วย ไม่งั้นอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ( ไม่ใช่อกหักหรือรักไม่เป็นนะ) แบบนี้ก็ยากที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ครับ ถ้าเป้าหมายนั้นสูงเกินไป
7. อย่าลืมถึงอายุตัวเองด้วยนะครับ ว่าเราอายุเท่าไร เพื่อนอายุเท่าไร บางคนปั่นจนลืมตัวว่า ตนเข้าวัย สว. แล้ว แต่ดันเอาผลการฝึกซ้อมไปเทียบกับหนุ่มๆ แล้วมานั่งท้อแท้ ว่า ฝึกอย่างไรก็สู้ไม่ได้เสียที
...อายุที่น้อยกว่า มีผลตอบสนองจากการฝึกซ้อมได้ดีกว่า เพื่อนๆมองตัวเองและสำรวจเพื่อนร่วมซ้อมในกลุ่มด้วยว่า อายุเท่าไรกันมั้ง จะได้สบายใจว่าเราแก่แล้วนะ จะไปสู้หนุ่มๆได้ยังไง
8.ฝึกซ้อมผิดวิธีมาตลอด คิดว่าวิธีที่ตัวเองฝึกอยู่ถูกต้องแล้ว โดยที่ไม่ไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติม การฝึกซ้อมที่ไม่ถูกต้องนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว บางครั้งอาจเป็นการทำลายตัวเองอีกด้วย เช่น คนที่ฝึกแบบปั่นเอาเร็วอย่างเดียว เข้ากลุ่มตลอดอัดแข่งกับเพื่อนทุกครั้ง หรือฝึกซ้อมที่หนักตลอด ไม่เบา ไม่ผ่อนเลย กลัวไม่เก่ง กลัวไม่ทันเพื่อน แบบนี้เป็นวิธีคิดที่ผิดครับ
9. ไม่ใช้จินตนาการเข้าร่วมด้วย นักปั่นที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ต้องใช้จินตนาการทั้งสิ้น
ความสำเร็จอาจใช้จินตนาการเข้าช่วย คิดถึงแต่ความสำเร็จ : ตรงนี้ต้องแยกให้ออกจากคำว่า ฟุ้งซ่าน พวกนักกีฬาเก่ง ๆ จะเข้าใจถึงการสร้างจินตนาการได้ดี พวกเขาจะคิดถึงแต่ความสำเร็จจากการแข่งขันบ่อย ๆ จนเมื่อถึงเวลาได้รับชัยชนะจริง ๆ แล้วมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย ไม่ตื่นเต้น
แต่การใช้จินตนาการนี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็คิดว่าตัวเองจะลุกขึ้นมากปั่นได้เร็วและไกลทั้งที่ไม่เคยซ้อม มันต้องเป็นจินตนาการที่ออกมาจากความสามารถ หมายความว่าเมื่อเราซ้อมมาดีแล้วและมากพอจนเกิดความมั่นใจ นั่นแหละคือจุดที่ใช้จินตนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมันจะช่วยสร้างกำลังใจเพื่อกระตุ้น การสร้างจินตนาการคือกระบวนการจิตสำนึกที่จะทำให้จิตใจผ่อนคลาย เมื่อเราได้เห็นภาพที่ตัวเองกำลังปั่นจักรยานอยู่นั้นจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางผ่อนคลายและตอบสนองต่อความคิดนั้นเหมือนมันเป็นจริง
จะว่าไปแล้วการจินตนาการก็เหมือนการซ้อมใหญ่ ที่ช่วยให้เราคุ้นเคยกับสภาพจริง ๆ ที่ต้องเจอข้างหน้า ซึ่งถ้าทำได้จริงก็จะได้ผลคือลดความตื่นเต้น ผ่อนคลายและคุ้นเคยกับสิ่งที่ต้องเจอ แลนซ์ อาร์มสตรอง เองก็ใช้วิธีนี้มาแล้วเวลาลงแข่ง เขามักจะสำรวจเส้นทางยาก ๆ ก่อนวันแข่งด้วยการขี่จักรยานไปตามเส้นทางนั้น เมื่อจำได้แล้วก็ไม่ยากที่จะคิดถึงสภาพตัวเองตอนที่ใช้เส้นทางนั้นจริง ความคิดที่ว่า “ได้ไปมาแล้ว ทำได้แล้ว “ จะเกิดขึ้นในหัว ขจัดความหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ทิ้งไปได้หมดก่อนการแข่งจริงจะเริ่มขึ้น จะมีอะไรวิเศษไปกว่าการแข่งกีฬาโดยไร้ความกดดันล่ะ
วิธีการสร้างจินตนาการนั้นไม่ยาก เพียงแค่เรามีที่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ ให้นั่งได้สักที่ แล้วใช้ตรงนั้นนั่งหรือนอนคิดถึงสภาพเส้นทางที่จะขี่ คิดถึงสายลมเย็นที่พัดปะทะกาย คิดถึงความสนุกสนานที่ตัวเองและจักรยานพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แล้วเมื่อปั่นจริงเราก็พยายามทำให้ได้เช่นที่เคยนึกภาพไว้ ดูเหมือนจะโม้แต่ถ้าทำได้จริง ๆ นี่แหละจะเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพให้การปั่นจักรยานได้เหนือจินตนาการไหน ๆ
อ่านแล้วไม่ต้องซีเรียสนะครับ คิดซะว่าเราเป็นมือสมัครเล่น ที่ต้องทำมาหากิน เลี้ยงชีพ อยู่ บางคนอาจไม่มีเวลาฝึกซ้อมมากนัก เลยอาจไม่ประสบผลสำเร็จ แต่อย่างน้อย เพื่อนจะได้รับสิ่งที่เลอค่ามากกว่าใดๆ คือ สุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง สมาร์ท ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ต้องสามวันดีสี่วันไข้ แบบที่น้าเคยเป็นมา มีเงินใช้ แต่หามีความสุขไม่ แบ่งเวลามาปั่นบ้างตามแต่เวลาว่างของแต่ะคน มีมากก็ปั่นมาก มีน้อยก็ปั่นน้อย อย่าให้เสียเวลางานนัก อย่าให้เสียเวลาของครอบครัวด้วย จัดสรรให้ดี ที่สำคัญอย่าผลัดวัน ประกันพรุ่งในการออกกำลัง คิดวันนี้ พรุ่งนี้ลงมือเลย แล้วชีวิตจะมีแต่ความสุขนะครับ
....สิ่งสำคัญ ปั่น ปั่น...ปั่นให้มีความสุขและสนุกกับการปั่นนะครับ
เครดิต พิชิตชน สุนทรวร เป้ มหาชัย กลุ่ม 100 Rpm Room