- หน้าแรก
- ปั่นไปยิ้มไป
- “ตำรวจนักปั่นจักรยาน” ร.ต.ท.วิชัย จิตสัจจพงศ์
“ตำรวจนักปั่นจักรยาน” ร.ต.ท.วิชัย จิตสัจจพงศ์
ในวัย 59 ร.ต.ท.วิชัย จิตสัจจพงศ์ รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลเทียนทะเล หรือที่ใครๆเรียกว่า หมวดป๋อม ยังคงปั่นจักรยานเสือภูเขาคู่ใจออกปฏิบัติหน้าที่บนถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล โดยไม่มีวันหยุด
ชายผิวเกรียมแดดในเครื่องแบบสีกากี ออกแรงปั่นจักรยานฝ่าเปลวแดดวันละไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร อำนวยความสะดวกให้นักปั่นได้ใช้เลนจักรยานอย่างปลอดภัย ควบคู่กับหน้าที่โบกรถตามสี่แยก ตักเตือน ออกใบสั่งแก่ยวดยานพาหนะที่จอดกีดขวางการจราจรอย่างเข้มงวด จนได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า “ตำรวจนักปั่นจักรยาน”
ทว่าวันนี้ การปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมากลับได้รับคำขู่ฆ่าเป็นรางวัล หลังจากมีมือลึกลับพ่นสีสเปรย์ประกาศถ้อยคำอาฆาต หวังคุกคามให้หวาดกลัว แต่หารู้ไม่ว่านอกจากจะไม่ทำให้หัวใจของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คนนี้สะทกสะท้านแล้ว ยังปลุกให้ประชาชนออกมาให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม
เป็นการตอกย้ำให้รู้ว่า สังคมไทยยังพร้อมที่จะปกป้องคนดีเสมอ
ทำไมถึงเลือกเป็นตำรวจ
ผมเกิดที่ตลาดพลู ฝั่งธนบุรี พ่อเป็นคนจีนแต้จิ๋ว แม่เป็นคนไทย สาเหตุที่ทำให้อยากเป็นคนในเครื่องแบบก็เพราะสมัยเด็กๆเวลาเดินจากบ้านตลาดพลูไปเรียนที่วัดสิงหราชวิทยาคม จะถูกนักเลงรังแก ตังค์ในกระเป๋าถูกล้วง บางวันโดนตบหัว เดินร้องไห้กลับบ้านทุกวัน คิดอย่างเดียวว่าถ้าเป็นทหารไม่ได้ ก็ต้องเป็นตำรวจ เพื่อจะได้มาปราบอันธพาลพวกนี้
ในใจผมต้องการเป็นทหารเลยไปสมัครนายสิบ แต่เขาบอกว่าสมัครไม่ได้เพราะพ่อเป็นคนต่างด้าว ถ้าพ่อเป็นคนไทยก็ไม่มีปัญหา เมื่อสมัครทหารไม่ได้ก็เลยไปสมัครตำรวจ แต่ด้วยความที่พ่อผมเป็นคนต่างด้าว ล่องเรือมาอยู่เมืองไทย มักโดนตำรวจรีดไถตลอด เลยทั้งเกลียดทั้งกลัว พูดง่ายๆคนจีนจะพยายามกีดกันไม่ให้ลูกเป็นตำรวจ พ่อเคยพูดอย่างดูถูกจนผมจำได้มาจนวันนี้ว่า “มึงเป็นตำรวจ ต่อไปมึงต้องจับพ่อแม่ ถ้ามึงเลี้ยงนกกระจอกเชื่อง เลี้ยงตำรวจเชื่อง” สุดท้ายผมก็ต้องแอบไปสมัคร
เส้นทางอาชีพตำรวจของคุณเป็นอย่างไร
ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2518 จบจากโรงเรียนตำรวจนครบาล สมัครเข้าศูนย์วิทยุสื่อสารกองกำกับการรถวิทยุและศูนย์รวมข่าวนครบาล (กก.วศน.) ต่อมาย้ายไปอยู่หน่วยป้องกันและปราบปรามจลาจลในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 พออายุ 25 ก็ย้ายมาทำหน้าที่เสมียนเวรที่สน.ท่าข้าม สมัยนั้นยังเป็นถนนสายธนบุรี-ปากท่อยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็นถนนพระราม 2 เหมือนทุกวันนี้ กลางคืนแทบจะไม่มีรถวิ่งเลย เปลี่ยว กันดารมาก ก่อนย้ายอีกครั้งมาเป็นสายสืบ
ชีวิตช่วงที่เป็นสายสืบถือว่าสร้างชื่อเสียงให้กับผมมากที่สุด ตอนนั้นผมออกกำลังกายตลอด วิ่งวันละ 30 กิโล เวลาว่างก็ชกมวย ยอมรับเลยว่าฟิตปั๋ง เขาเรียกผมไอ้ม้าเหล็ก วิ่งไล่กวดใคร ชาวบ้านเฮเลย ไม่มีใครหนีผมพ้น สักพักลากตัวกลับมาขึ้นโรงพักได้ เป็นตำรวจถ้าสุขภาพแข็งแรง มันสามารถทำงานได้เต็มที่ ประชาชนก็เชื่อใจ
ตั้งแต่รับราชการมาผมเคยยิงปืนครั้งเดียว จำได้ว่ามีเหตุโจรเรียกค่าไถ่ โจรกำลังจะหนีแล้วยิงเปิดทาง ผมยกยิงสวน แต่ปรากฏกระสุนด้าน ตอนนั้นปืนที่ใช้อยู่ปืนลูกโม่ขนาด.38 ยิงหมดโม่แต่เงียบ (หัวเราะ) ใครๆก็บอกว่าไอ้โจรเรียกค่าไถ่คนนั้นมันมีของดี แต่จริงๆไม่ใช่ ปืนหลวงมันเก่าคร่ำครึ โชคดีผมไม่ถูกยิงตาย
แล้วมาทำงานด้านจราจรได้ยังไง
ปี 2540 ช่วงหลังอายุเริ่มมากขึ้น ผมอยากทำงานสบายๆเลยขอย้ายมาทำธุรการที่ สน.เทียนทะเล ทำได้แป๊บเดียวนายก็ชวนมาทำจราจร เมื่อก่อนขี่มอเตอร์ไซค์ปฏิบัติหน้าที่เหมือนคนอื่น ถนนยังแคบ รถวิ่งสวนไปมา อันตราย พอปี 2551 มีการปรับปรุงถนนให้กว้างขึ้นหลังจากน้ำท่วม แถมมีเลนจักรยานด้วย ผมมีจักรยานแม่บ้านธรรมดาๆอยู่คันก็ปั่นไปปฏิบัติหน้าที่ งานหลักๆคือตอนเช้า ปั่นจากสน.เทียนทะเล 12 กิโลเมตรไปโบกรถตามแยกต่างๆ ดูแลเด็กนักเรียนหน้าโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ กลางวันก็มาพักในป้อม หายเหนื่อยก็ออกไปยืนโบกรถ ตกเย็นก็ปั่นไปอำนวยความสะดวกหลังเลิกเรียนอีก รวมแล้ววันนึงปั่นได้ 50 กิโล
ฉายา”ตำรวจนักปั่นจักรยาน” ใครเป็นคนตั้งให้
ปั่นมาได้ปีสองปี มีกลุ่มจักรยานเสือภูเขามาปั่่นเที่ยว เขาก็จอดรถทักทายไถ่ถามว่าทำไมตำรวจถึงมาปั่นจักรยาน ผมก็ตอบไปว่าตำรวจปั่นจักรยานเมื่อไหร่ เดี๋ยวประชาชนก็ทำตาม ในใจคิดแค่อยากให้ประชาชนในพื้นที่หันมาใช้จักรยานเท่านั้นเอง ประหยัดเงินค่าน้ำมัน สุขภาพก็แข็งแรง เขาเห็นรถผมเก่าๆพังๆ โซ่หลุดๆหย่อนๆ เขาบอกว่าเดี๋ยวเอาจักรยานมาให้ ตกเย็นเอามาให้จริงๆ เป็นจักรยานเสือภูเขาสีแดงยี่ห้อจาร์มิส ผมถามราคาเท่าไหร่ ถ้าแพงผมไม่รับนะ เขาบอกเอามาให้ดาบปั่น จะไปไหนให้จูงไป อย่าทิ้ง ทิ้งแล้วหาย ทุกวันนี้ยังไม่รู้คันเท่าไหร่ ปั่นอยู่ปีกว่าๆก็พังอีก เขาก็เอามาเปลี่ยนอีกเป็นคันที่สอง สาม สี่ 6 ปีมานี้เปลี่ยนมา 5 คันแล้ว
ครอบครัวว่ายังไงบ้าง
ลูกเมียบอกว่าพ่อปั่นระวังหน่อย อายุมากแล้ว ตำรวจบางคนมองผมเป็นไอ้บ้า หาว่าต้องการสร้างภาพก็มี แต่ผมทำแบบนี้เพื่อให้รณรงค์ให้คนใช้จักรยานในการเดินทาง ได้ออกกำลังกาย ประหยัดน้ำมัน ช่วยลดภาวะโลกร้อน ใครอยากด่าก็ด่าไป
ปัญหากระทบกระทั่งกับผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดขึ้นได้ยังไง
เส้นทางจักรยานบางขุนเทียน-ชายทะเลมีคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ยิ่งช่วงที่ผ่านมา มีคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ผมก็ไปเตือนให้พวกรถชาวบ้านที่มาจอดทานอาหารแล้วจอดกีดขวางทางจักรยาน จอดซ้อนคันมั่ง ตูดโผล่มั่งให้ขยับรถ แต่เตือนเท่าไหร่ก็ไม่เชื่อ ผมไประบายให้สารวัตรจราจรฟัง เขาไฟเขียวบอก ป๋า เขียนใบสั่งเลย ไม่ต้องเตือนกันแล้ว ผมไม่อยากทำ ผลที่สุดก็ต้องปะใบสั่ง ข้อหาจอดรถกีดขวางทางจราจรและไม่ชิดขอบทาง
ทุกครั้งก่อนที่จะออกใบสั่ง ผมจะเตือนก่อน บอกเจ้าของร้านให้ตามเจ้าของรถมาขยับรถ แต่ก็โดนโวยวายว่าเราไปไล่ลูกค้าเขา บางคนไล่เหมือนหมูเหมือนหมา ผมก็ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง ในเมื่อถามครั้งหนึ่งแล้ว ไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของ ผมก็เขียนใบสั่ง ซึ่งทุกครั้งผมจะถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย ป้องกันการร้องเรียนว่ากลั่นแกล้ง
หนหนึ่งเจ้าของร้านยุลูกค้าให้ร้องเรียนผม เขาถ่ายรูปรถที่เขาจอดตอนขยับรถเสร็จแล้วเอาไปร้องเรียนที่โรงพัก ผมก็เข้าไปพบ เขายืนยันว่าจอดรถไม่ผิดกฎหมาย แล้วเอารูปถ่ายให้ดู ผมบอกว่าตอนที่ออกใบสั่ง คุณไม่ได้จอดรถแบบนี้ ท้ายรถคุณยื่นออกมา พอผมเอากล้องถ่ายรูปเปิดให้ดู เขาก็ยอมรับผิด
อีกอย่างในใบสั่งผมจะทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วย เผื่อประชาชนโทรเข้ามาสอบถามว่าผิดกฎหมายยังไงถึงถูกออกใบสั่ง หรือต้องไปจ่ายค่าปรับที่ไหน บางคนรับทราบ บางคนโทรมาเบ่ง บางคนเอาโทรศัพท์สาธารณะโทรมาด่า บางคนรับใบสั่งจากมือพอขับรถออกไปได้หน่อยนึงก็เปิดกระจกด่าหยาบๆคายๆ เจ้าของร้านบางร้านผมปั่นจักรยานผ่านเขาตะโกนด่าลอยๆให้ได้ยินว่า “ตำรวจตัวเงินตัวทองมาแล้ว”
คิดว่าตัวเองเข้มงวดไปหรือเปล่า
ถ้าผมไม่ทำแบบนี้ การขับรถ การจอดรถมันจะไม่มีวินัยเลย อย่างในพื้นที่เทียนทะเล มีคนขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรมา ผมก็เรียกมาตักเตือน แล้วให้เขาขี่ย้อนกลับไป ถ้าไม่ทำตาม ผมก็เขียนใบสั่ง ประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามนะ สนับสนุนให้ปะใบสั่ง ผมอยู่ในพื้นที่มานาน พ่อค้าแม่ค้าพวกนี้รู้จักผมดี แต่พอผมมาเข้มงวดก็เลยทำให้บาดหมางกัน
เจอแบบนี้เข้าบ่อยๆ ท้อไหม
ครั้งหนึ่งเคยท้อมากถึงขั้นคิดลาออกจากราชการ ตอนนั้นผมมีปัญหากับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพราะไปกวดขันเรื่องที่จอดรถหน้าร้านซึ่งเจ้าของร้านสนิทสนมกับเขา ผู้มีอิทธิพลคนนั้นขู่จะสั่งย้ายผม ผมไม่รู้จะทำยังไง เลยปรึกษาพวกกลุ่มจักรยานว่าสงสัยจะไม่ไหวแล้ว ผมทำอย่างถูกต้องมาตลอด ด่าผมก็ยอม ร้องเรียนผมก็ยอม แต่มาเจอผู้มีอิทธิพลมารังแกข่มเหงแบบนี้อาจจะไม่ไหว เขาบอกหมวดสู้ พวกผมช่วยเอง วันนั้นมีข่าวว่ากลุ่มชาวบ้านจะมาร้องเรียนผมที่โรงพัก ผมบอกเชิญเลยไปเจอกันที่สน. พอเข้าโรงพัก ปรากฎว่ามีกลุ่มประชาชนที่ใช้จักรยานประมาณ 200 กว่าคน ปั่นมาให้กำลังใจ
ปั่นจักรยานมา 6 ปี นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุด ประชาชนเห็นคุณค่า ออกมาคุ้มครอง ต่อสู้ร่วมกับผม เพื่อให้ได้ช่องทางจักรยานที่ปลอดภัย
โดนขู่ฆ่าครั้งนี้ถือว่าหนักสุด
พูดง่ายๆว่าเล่นผมหนัก พ่นสีด่าผม มึงตายก่อนโดนปลดแน่ แล้วมีรูปจักรยาน ประชาชนรู้หมดว่าหมายถึงผม ตอนแรกเห็นเพราะมีคนส่งมาให้ดูทางไลน์ สารภาพว่าหวาดๆอยู่เหมือนกัน แต่ผมเป็นตำรวจยังไงผมก็ต้องไม่กลัว ถ้าเกิดผมกลัว ประชาชนก็คงไม่มีความปลอดภัย
เพื่อนตำรวจให้กำลังใจอย่างไรบ้าง
ท่านผู้กำกับสน.เทียนทะเลมาให้กำลังใจเป็นคนแรก พอเห็นข้อความที่ส่งเข้าไลน์สน.ปุ๊บ แกเข้ามาหาที่โรงพักเลย บอกว่าหมวดป๋อม ต่อไปต้องระวังตัวให้มาก ตำรวจเป็นส่วนน้อยที่ให้กำลังใจผม ส่วนใหญ่ต่อต้านผม นี่พูดเลย ผมไม่กลัว บางคนพูดลอยๆว่าระวังนะ เกษียณเมื่อไหร่จะเดินอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ผมบอกถ้าเดินไม่ได้ก็วิ่ง (หัวเราะ) บางคนด่าว่าเป็นตำรวจ อย่าสร้างภาพ หาว่าเกณฑ์คนมาให้กำลังใจตัวเอง ผมไม่เคยทำอย่างนั้นเด็ดขาด ใครสมัครใจมาก็มา มีประชาชนจำนวนมากที่โทรมาบอกว่าจะมา เขามาด้วยจิตใจที่ไม่ใช่ถูกบังคับมา
ช่วงเวลานี้ที่ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็ทำงานไปเรื่อยๆ หากผมเป็นอะไรไป ยังไงก็เชื่อว่าประชาชนที่รักผมจะต้องช่วยเหลือผม บางทีผมไปออกไปสั่งให้พวกวัยรุ่นหวิดจะโดนรุมยำ พวกวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างพอรู้ข่าวก็กรูกันมาช่วย
ยังเชื่อว่าประชาชนที่รักเรา พร้อมที่จะช่วยเสมอ
ยังมีคนที่รักผมอยู่ครับ (ตอบเร็ว) เคยมีแม่คนหนึ่งมาด่าผมว่าทำไมถึงใจร้าย ออกใบสั่งให้ลูกข้อหาไม่ใส่หมวกกันน็อก ขี่รถย้อนศร แล้วปรากฎว่าลูกชายเขาไปประสบอุบัติเหตุตาย ผมไปเจอที่งานศพ แม่เขาเข้ามายกมือไหว้ขอโทษ บอกว่าถ้าหากเชื่อผมตั้งแต่ทีแรก ลูกชายคงไม่ตาย ผมบอกเลยว่าผมทำทุกอย่างตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย
ตั้งแต่มีชื่อเสียงเป็น ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม
ก็ทำงานตามปกติ การปั่นจักรยานเป็นการเข้าหาประชาชน เข้าหามวลชน ไม่ใช่ว่านั่งอยู่โรงพักแล้วให้ประชาชนวิ่งเข้ามาหา มันไม่ถูกต้อง ผมก็ปั่นไปเรื่อย ไปไหนก็เจอนักปั่นจักรยานสวนกันก็ทักทายกัน เหมือนอย่างเขาบอกว่าคนปั่นจักรยานไม่มีชนชั้น จะรวยจะจนเมื่อคุณปั่นจักรยาน ทุกคนเท่ากันหมด ไม่มีใครเหนือกว่าใคร
คิดอย่างไรที่ยุคนี้ประชาชนมองภาพลักษณ์ตำรวจในแง่ลบ
ยุคนี้ถือว่าภาพลักษณ์ตำรวจเสียหายมาก เสียหายเฉพาะบุคคลนะ ไม่ใช่ภาพรวม มีตำรวจเพียงไม่กี่คนที่ทำเสียหาย แต่ตำรวจทำดียังมีอีกมากแต่สังคมไม่เห็น ผมปั่นจักรยานปฏิบัติหน้าที่มา 6 ปี ไม่มีใครเห็น แต่เวลาผมเดือดร้อนขึ้นมา ประชาชนที่เห็นว่าผมทำงาน เขาก็เข้ามาช่วยเหลือผม การที่ประชาชนติดกล้องไว้ตรวจสอบตำรวจระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ผมสนับสนุนนะ ตำรวจคนไหนทำดีตำรวจคนไหนทำไม่ดี เปิดเผยหลักฐานให้สังคมเห็นกันไปเลย
อยากพูดอะไรฝากไปถึงคนที่เกลียดเราไหม
ผมทำงานตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครทำถูกต้องก็ไม่ไปรังแก ถ้าคุณไม่ทำผิดกฎจราจร ผมก็ไม่ออกใบสั่งคุณ ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร ทำไม่ถูกต้อง ผมก็ต้องออกใบสั่งตามระเบียบ
อะไรคือความสุขในวันนี้
ความสุขของผมอยู่บนท้องถนน เวลาปั่นจักรยานไปไหน ประชาชนชอบใจ ยิ้มให้ ทักทาย ส่งน้ำส่งขนมให้ เหมือนผมได้รับรางวัลจากประชาชนแล้ว แค่นี้ก็มีความสุข สบายใจ ทำงานมาเครียดๆหายหมด ถือว่ายังมีประชาชนที่รักผมอยู่ ผมไม่เสียใจเลยที่เลือกเป็นตำรวจ ผมทำเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว
อีกหนึ่งปีก็จะเกษียณอายุราชการ วางแผนชีวิตไว้อย่างไร
ก็ทำมาค้าขาย อยู่สงบๆ พักผ่อน แต่ยังไงก็ยังต้องปั่นจักรยานอยู่ดี การขี่จักรยานทำให้สุขภาพผมยังแข็งแรง
เรื่อง….อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ…เสกสรร โรจนเมธากุล
ที่มา https://soclaimon.wordpress.com/