- หน้าแรก
- ปั่นไปยิ้มไป
- Thailand เมืองสวรรค์ ของนักปั่นทั่วโลก !!
Thailand เมืองสวรรค์ ของนักปั่นทั่วโลก !!
นายมงคล วิจะระณะ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า ความจริงแล้วนักปั่นได้เดินทางไปปั่นทั่วโลกอยู่แล้ว แต่เมืองไทยถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ค่าครองชีพที่ราคาถูก รวมถึงอุปนิสัยของคนไทยที่ดูเป็นมิตร จึงเป็นเหตุผลที่นักปั่นหลายชาติต่างใฝ่ฝันมาปั่นที่แดนสยามแห่งนี้
นายสันติ โอภาสปกรณ์กิจ นักปั่นจักรยานวัย 47 ปี แสดงทัศนะว่า การปั่นจักรยานในประเทศไทยมีสีสันมาก ปั่นไปที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน ปั่นไปอีสานก็ได้รสชาติแบบหนึ่ง ปั่นไปเหนือก็ได้รสชาติอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ได้เคยพูดคุยกับนักปั่นชาวอังกฤษที่ปั่นมาทั่วประเทศไทย และได้บอกไว้ว่า ประเทศไทยถ้าเส้นทางปลอดภัยมันจะสุดยอดของการขี่จักรยานท่องเที่ยวแล้ว
“คนต่างชาติแทบทุกคนจะแสดงความเห็นเหมือนๆ กันคือ ขี่จักรยานเมืองไทยมันสนุกกว่าที่บ้านเขาเยอะเลย สนุกกว่าประเทศอื่นที่เขาไปขี่มาเยอะมาก เสียอย่างเดียวทางจักรยานเมืองไทยมันมีสีสันมากไปหน่อย ประเทศเขามันมีมาตรฐานเดียว แต่ประเทศไทยมันจะต้องคอยคิดตลอดเวลาว่าข้างหน้าจะเจออะไรบ้าง แต่ให้มีสีสันที่บ้านเขา เขาไม่เอา ฮ่าๆๆ” นักปั่นจักรยานวัย 47 ปี เล่าอย่างสนุก
Thailand Only ปัญหานี้...นักปั่นเจอบ่อย !?
นายสันติ อธิบายว่า มี 3 ข้อที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการขี่จักรยาน คือ
- สภาพถนนไม่เอื้ออำนวย ถนนไม่ปลอดภัย มีหลุมมีบ่อ ไม่ต้องมีคนอื่นมากระทำก็เกิดอันตรายได้
- อุบัติเหตุ ความเลินเล่อของผู้ใช้รถขนาดใหญ่กว่า ซึ่งบนถนนรถจักรยานจะคันเล็กที่สุด ฉะนั้น จะอ่อนแอที่สุด โดนใครมากระทบหรือไปกระทบใครก็จะเจ็บกว่า
- จักรยานโดนปล้นง่ายมาก เนื่องจากความเร็วน้อยและวิ่งติดฟุตปาท ทำให้โจรที่ดักซุ่มข้างทางสามารถปล้นได้ง่ายๆ หรือโดนปล้นจากมอเตอร์ไซค์ก็มี
ตะลุยปั่น ต่างแดน-เมืองไทย แตกต่างอย่างไร?
นักปั่น วัย 47 ปี เล่าประสบการณ์ที่เคยไปขี่จักรยานในหลายประเทศทั่วโลก ให้ทีมข่าวฯฟัง ถึงความแตกต่างที่ได้พบเจอ
สิงคโปร์ ปั่นง่าย : ถนนทั่วสิงคโปร์แทบจะไม่มีถนนเส้นไหนเป็นหลุมเป็นบ่อ หน้าแทบจะไม่ต้องมองถนนหรือพะวงกลัวจักรยานล้ม ที่สิงคโปร์ท่อระบายน้ำที่มีลักษณะเป็นกลมๆ วิ่งผ่านไปได้ แต่ไม่ได้เป็นตะแกรงเหมือนของไทย แถวๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่เปิดโครงการ Bike Lane เกือบครึ่งที่ทางจักรยานอยู่บนฝาท่อ ซึ่งทำให้การขี่จักรยานดูไม่เพลิดเพลิน เพราะมีแทบจะทุกๆ 10 เมตร
ญี่ปุ่น ปั่นเยอะ : เมืองโตเกียว ในญี่ปุ่นแทบจะไม่มี Bike Lane แต่ว่าคนญี่ปุ่นใช้จักรยานเยอะมาก ด้วยสาเหตุ 2 ประการ 1.ฟุตปาทดี รัฐบาลให้คนขี่จักรยานขี่บนฟุตปาท เพราะฟุตปาทใหญ่ กว้าง ซึ่งทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจะน้อย 2.คนมีมารยาทในการใช้จักรยาน คือไม่ขี่เร็ว คนส่วนใหญ่ที่ใช้จักรยานในญี่ปุ่นก็จะเป็นพวกแม่บ้าน พ่อบ้าน บางคันก็มีเก้าอี้ให้ลูกนั่งเสริมด้วยส่วนเมืองไทย ถ้ายังไม่สามารถที่จะทำฟุตปาทให้ดี ขนาดคนธรรมดายังแทบจะเดินไม่ได้ จึงไม่น่าที่จะไปแย่งฟุตปาทจากคนเดินมาใช้เป็นทางจักรยาน จักรยานก็น่าจะใช้ร่วมกับรถประเภทอื่นไปก่อน
เมืองหนาว-เมืองร้อน : หลายคนมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การขี่จักรยานจะลำบากไม่เหมือนประเทศที่เป็นเมืองหนาว แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เวลาขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ ด้วยความเร็วที่เกิน 10-15 กม./ชม. จะเกิดลมที่มาปะทะผิวเรา ซึ่งจะทำให้เหงื่อตามร่างกายระเหยออกไปและทำให้รู้สึกเย็นโดยธรรมชาตินั่นเอง
เมืองไทยพร้อมหรือยังกับการปั่นจักรยาน ?
อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ เผยว่า ต้องแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
ปั่นนอกเมือง : เป็นการปั่นตามต่างจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นถนนใหญ่มีไหล่ทางกว้าง การปั่นบนไหล่ทางก็ถือว่ายังพอทำได้ และปริมาณรถที่วิ่งยังน้อยกว่าในเมือง
ปั่นในเมือง : ในกทม. มีเส้นทางที่เรียกว่าเป็น Bike Lane เป็นช่องทางสำหรับจักรยาน แต่ก็มีน้อยมาก อีกทั้ง ยังมีอุปสรรคในเรื่องของผิวทางไม่เรียบ มีฝาท่อระบายน้ำ ก็อาจจะไม่ค่อยสะดวกกับนักปั่นสักเท่าไหร่
ด้าน นายสันติ มองว่า เมืองไทยพร้อมมานานแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการขี่จักรยานแทบจะที่สุดในโลก ในกรุงเทพฯ สามารถใช้จักรยานแม่บ้านไปได้ทุกที่ทุกทาง เพียงแต่ว่าถ้าประเทศไทยมีเงินลงทุนที่จะทำทางรถไฟได้ ทำไมจึงจะทำถนนให้เรียบไม่ให้มีหลุมมีบ่อ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้
แนะวิธีแก้ปัญหา หวั่นนักปั่นเอาชีวิตมาทิ้งที่เมืองไทย !
หลังเกิดอุบัติเหตุกับนักปั่นต่างชาติ จนมีข่าวโด่งดังไปทั่วโลกถึงการจราจรเมืองไทย อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ จึงขอเสนอแนะไปยังผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อร่วมมือช่วยกันป้องกันอุบัติเหตุ หวั่นเสียชื่อเสียงของประเทศ โดยให้ความเห็นว่า ขอให้มีพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์และรับรู้โดยทั่วไปว่าช่องว่างทางซ้ายสำหรับจักรยานใช้ และต้องทำให้ผืนผิวจราจรเรียบ ฝาท่อระบายน้ำควรจะเป็นระดับเดียวกันกับผิวจราจร ถ้าฝาท่อไหนที่เป็นตะแกรงก็จะต้องเป็นแนวขวาง เพื่อล้อรถจักรยานจะได้ไม่ตกลงไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ การเข้มงวดในเรื่องของกฎจราจรก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะหากผู้ใช้รถใช้ถนนมีวินัยในการขับขี่ก็จะไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ลดอัตราความสูญเสียได้อีก
ขณะที่ นายสันติ นักปั่นจักรยาน มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เพื่อนำเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กำหนดความเร็วในตัวเมืองให้เหลือ 30 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วมาตรฐาน เมื่อมีจักรยานมาร่วมทางแล้วต้องคิดว่าจะใช้ความเร็วเท่าไหร่เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับจักรยาน ความเร็วที่แตกต่างกันจะทำให้ดูอันตรายมาก
- ทำให้ไหล่ทางไม่เป็นอันตรายต่อการใช้จักรยาน ในต่างจังหวัด และกทม. ปัญหาของเมืองไทยคือไหล่ทางอันตรายมาก ส่วนใหญ่จะมีหลุม บ่อ เศษกรวด และที่สำคัญ คนไทยชอบขับรถแซงบนไหล่ทาง ทั้งที่ไหล่ทางมีไว้จอดเมื่อยามมีอุบัติเหตุหรือรถเสีย แต่คนไทยกลับชอบใช้ไหล่ทางเป็นเลนพิเศษ ควรจะรณรงค์และมีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด และต้องห้ามใช้ไหล่ทางโดยเด็ดขาด
- ใส่ความรู้ที่จำเป็นต่อคนขับรถและขี่มอเตอร์ไซค์ในการสอบใบขับขี่ เรื่องข้อควรรู้ในการแซงจักรยาน จะต้องเว้นระยะห่างจากจักรยานประมาณ 1 เมตร เนื่องจากจักรยานมีน้ำหนักเบาถ้าแซงใกล้โอกาสที่จะไปเฉี่ยวจักรยานนั้นมีเยอะมาก ไม่เหมือนมอเตอร์ไซค์ที่เสถียรกว่า
ถึงแม้ประเทศไทยเป็นเมืองที่สวยงาม ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ดินแดนสวรรค์ของนักปั่น’ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้ดีมากกว่านี้ ก็ได้แต่หวังให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันปรับปรุงเส้นทางที่เป็นหลุม เป็นบ่อ ขรุขระ ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อบรรดาแก๊งจักรยานเท่านั้น แต่เพื่อผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญที่สุดบนท้องถนนที่ทุกคนควรจะได้รับ !
ขอบคุณภาพจาก : http://www.twowheeltravelblog.com