- หน้าแรก
- ข่าวชาวจักรยาน
- เจาะ “จุดอันตราย” พื้นที่เสี่ยงตาย “ปล้น” นักปั่นจักรยาน กทม.
เจาะ “จุดอันตราย” พื้นที่เสี่ยงตาย “ปล้น” นักปั่นจักรยาน กทม.
“20,000 บาท” คือราคาลงทุนขั้นต่ำสุดของ “แฟชั่นปั่นเมือง” และสูงสุดไปจนถึง “หลักแสน” ด้วยราคาล่อใจเช่นนี้เอง จึงบังเกิดเหล่ามิจฉาชีพ “ถีบรถ” เพื่อชิงจักรยานคันหรูไปขาย มีถึงขั้นทำกันเป็นกระบวนการ ดักปล้นด้วยปืนแล้วขนขึ้นรถกระบะหายลับไป เกิดกลายเป็นพื้นที่อันตรายสุ่มเสี่ยงรอบกรุง!!
เมื่อคนถีบจักรยาน “ถูกถีบ”
ไม่ทันได้ระวังตัว! คนถีบจักรยานก็ดันเป็นฝ่าย “ถูกถีบ” เสียเอง นี่ไม่ใช่เรื่องตลกโปกฮาหรือเรื่องเล่นๆ เพราะเป็นเรื่องอันตรายสุ่มเสี่ยงถึงตายกันเลยทีเดียว!
"เคยมีคนบ้าแถวเลียบทางด่วนแห่งหนึ่ง พอเห็นคนปั่นจักรยาน มันก็ร้องเฮ้ย! จากนั้นก็เอาปืนบีบีกันออกมายิ่ง มีเลเซอร์ด้วยนะ สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ คนปั่นจักรยานต้องระวัง และเซฟตัวเองด้วย เพราะมีคนบางกลุ่มมองว่าคนปั่นจักรยานมันน่าหมั่นไส้ เอาบีบีกันยิ่งมันเลย หรือทุบเอารถจักรยานไปเลยก็มี มีจริงๆ ครับ
ยิ่งเส้นในกรุงเทพฯ เส้นแถวเกาะรัตนโกสินทร์ ถ้าปั่นเข้าไปตามซอกเล็กซอกน้อย จริงอยู่ที่จะเจอมุมเก่า เมืองเก่า มันสวยไง แต่ภายในความสวยมันก็มีชุมชนซึ่งบางทีก็น่ากลัว แล้วจักรยานก็ราคาแพงด้วย ถ้าไปคนเดียวก็อาจถูกตีเอาจักรยานไปได้ง่ายๆ บางแก๊งเอารถกระบะมาเบียดเพื่อให้หลบ-ให้ล้ม พอล้มแล้วมันก็เล่นทีเผลอ ส่งคนลงมายกจักรยานขึ้นกระบะไป แบบนี้ก็มี”
โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เคยบอกเล่าประสบการณ์เอาไว้ในฐานะนักปั่นจักรยานตัวยง ในงานฉายหนังสั้น “ปั่นเมือง: Share the Road”
ไม่ใช่แค่เพียงเสียงสะท้อนเพียงเสียงนี้เดียวที่เดือดร้อน แต่หลากเสียงจากโลกออนไลน์ต่างเตือนภัย “มิจฉาชีพถีบรถ” เอาไว้เกลื่อนเน็ต เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ทีมข่าวจึงลงพื้นที่ไปหาความจริงจากปาก “นักปั่นตัวจริง” และนี่คือคำบอกเล่าที่ย้ำด้านมืดในเมืองหลวงให้ชัดมากขึ้นไปอีก
“เคยมีคนถูกถีบแล้วเอาจักรยานไปเลย เพราะคนปล้นเขารู้ว่ามันแพงและมันขายง่ายด้วยครับ อย่างคันนี้ 30,000 ครับ ถ้าเป็นรุ่นต่ำๆ ก็จะ 20,000 ต้นๆ เป็นรุ่นเริ่มต้นเลยนะ รุ่นที่นิยมกันในบ้านเรา แต่ราคานี้ได้แค่จักรยานนะ ยังไม่ได้หมวก รองเท้า ชุดเลยนะ จักรยานแบบนี้แค่ถอดล้อออกแยกชิ้นส่วนขายก็ได้แล้ว ส่วนใหญ่เขาจะไม่ขายเป็นคันครับ เพราะถ้าทำแบบนั้นเจ้าของจะรู้ เพราะว่าแต่ละคันที่ซื้อมามันมี Serial Number อยู่” อุดม บุญอ่อน นักปั่นผู้มีประสบการณ์กว่า 4 ปี ให้ข้อมูล แล้วจึงปล่อยให้เพื่อนนักปั่น “นิคม สนอ่อน” อีกคนช่วยเสริม
“ที่ได้ยินว่ารถโดนถีบแล้วก็ปล้นบ่อยๆ คือ ถนนอักษะ แถวพุทธมณฑลสาย 4 นะ จะมีคนเตือนกันบ่อยๆ คนปั่นจักรยานด้วยกัน เตือนกันในเว็บเลย แล้วก็ที่เป็นข่าวดังๆ เลยก็จะเป็นที่พัทยา ส่วนจุดที่อันตรายอีกจุดก็ตรงสะพานกลับรถของสุวรรณภูมิ ทางที่จะออกไปโผล่ ถนนบางนา-ตราด นี่แหละครับ มันจะเป็นทางที่เปลี่ยวเลยครับตรงนั้นถ้าเป็นตอนกลางคืน”
สิ้นคำยืนยันจากนักปั่นตัวจริง สิงห์ล้อคู่ทั้งสองจึงช่วยกันลงลึกรายละเอียดไปอีก “เวลาปั่นกลางคืนถ้าไปเป็นแก๊งได้จะดีมาก เพราะต้องยอมรับว่า แก๊งปล้นจักรยานมันมีอยู่จริงๆ ทางที่ดีควรมีสติ และศึกษาเส้นทางให้ดีทั้งจากข่าว หรือกลุ่มนักปั่นที่เอามาโพสต์เตือนภัย เพื่อจะได้รู้ว่าเส้นไหนเสี่ยง เส้นไหนไม่เสี่ยง
มีน้องในกลุ่มเคยเจอมิจฉาชีพเหมือนกันครับ มาเล่าให้ฟัง ปั่นๆ อยู่เรียงกัน 3 คนนะ มีคนนึงถูกกระชากกระเป๋าไปเลย ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าจะเจอเหตุการณ์นี้ในกลุ่มนะ เจอแถวตึกช่อง 3 น่ะครับ ถนนพระราม 4 ตอนประมาณ 5 ทุ่มกว่าๆ ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เลยหลีกเลี่ยงการปั่นกลางคืน”
“เลนปลอดภัย” แห่งใหม่ ณ สุวรรณภูมิ
เมื่อมีสถานที่อันตราย ก็ต้องมีที่ที่ปลอดภัย “Bike Lane” ที่สุวรรณภูมิคือ “เส้นทางจักรยานสีเขียว” ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการแก่ชาวสองล้อเมื่อไม่นานมานี้เอง ถึงแม้จะมีข่าวคราวบนโลกอินเทอร์เน็ตเข้ามาให้ระคายหูอยู่บ้างว่าพื้นที่ใกล้เคียง “บริเวณใต้สะพานที่กลับรถเส้นสุวรรณภูมิ” คือพื้นที่อันตรายที่มิจฉาชีพมักดักปล้นจักรยาน แต่ถึงอย่างนั้น สิงห์นักปั่นที่มาใช้บริการก็ยืนยันว่าพื้นที่ในฝันแห่งใหม่ของเหล่าคนจักรยานแห่งนี้ปลอดภัยแน่นอน เพราะไม่ใช่จุดเดียวกันและแยกส่วนออกจากถนนสายหลักอย่างชัดเจน
โดยทางสนามบินสุวรรณภูมิได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนนั้นขึ้นมาใหม่ จากเดิมเป็นถนนสำหรับการตรวจตรารอบสนามบิน ให้กลายเป็นเส้นทางจักรยานสีเขียวที่ใช้ชื่อว่า “Bike Lane” ให้ทุกคนเข้าใช้บริการฟรีบนถนนยาวกว่า 23 กม. ซึ่งถือเป็นเส้นทางจักรยานที่แยกส่วนออกมาจากถนนอย่างชัดเจนครั้งแรกในไทย!
หากให้ลองเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ จากประสบการณ์ตรงแล้ว นิคม หนุ่มนักปั่นผู้หลงรักยานพาหนะมากว่า 5 ปียืนยันเลยว่าที่นี่ปลอดภัย เพราะจริงๆ แล้วปั่นจักรยานในเมืองหลวงแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็อันตรายหมด
“จริงๆ แล้วมันก็อันตรายเกือบทุกที่แหละครับ เราต้องอย่าปั่นยามค่ำคืน ดูจุดเสี่ยงด้วย อย่างที่ผมเคยได้ยินก็คือแถวถนนอักษะหรือรอบๆ พุทธมณฑล ในจุดที่มีเด็กแว้นน่ะครับ เราควรหลีกเลี่ยง หรืออย่างแถวคลองเตย, วิภาวดี, บางนา ก็มีกลุ่มเด็กแว้นเหมือนกัน”
ในเมื่อยังรักชีวิตบนหลังอานจึงยังต้องปั่นด้วยความระมัดระวังกันต่อไป แต่เพื่อไม่ให้รู้สึกหวาดระแวงเรื่องมิจฉาชีพจนเกินไป ทุกวันนี้กลุ่มนักปั่นได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งกองทุน "THAIMTB กองทุนรางวัลนำจับโจรทำร้ายและปล้นชาวจักรยาน" ขึ้นมา เพื่อแสดงพลังในการเป็นหูเป็นตาร่วมกันในเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ในเมื่อปัญหา “มิจฉาชีพจอมถีบ” ยังแก้ไม่ตก พวกเขาจึงเลือกที่จะระมัดระวังตัวเอง
ส่วนคนที่อยากขี่เลนจักรยานอย่างปลอดภัย แนะนำให้ลองแวะมาที่สุวรรณภูมิกันได้ “Bike Lane” แห่งนี้ เหมาะสำหรับการปั่นชิลชิลในช่วงเช้า โดยประตูจะเปิดเวลา 06.00 น. และปิดรับแลกบัตรเข้าใช้บริการเวลา 17.30 น. ก่อนจะปิดบริการอย่างเป็นทางการเวลา 19.00 น.
ในการปั่นบนเส้นทางดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำการตรวจตราและรักษาความปลอดภัยเส้นทางจักรยานทุกๆ 1 ชั่วโมง และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โทร. 0-2132-4000 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง\
ปั่นรันทด ชีวิตสองล้อ
“ปกติมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายของมือสองภายในตลาดนัดบ่อปลาย่านอ่อนนุช ช่วงหลังรายได้ไม่ค่อยดีประกอบกับเป็นคนชื่นชอบการปั่นจักรยาน จึงคิดวิธีหารายได้เพิ่มโดยการขโมยจักรยานซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ เห็นว่าสามารถขโมยได้ง่าย ซึ่งแต่ละครั้งในการก่อเหตุ จะนั่งโดยสารรถเมล์ตระเวนตามถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านที่มีคนนิยมใช้รถจักรยานจำนวนมาก และมีจุดจอดรถจักรยานตามห้างฯ และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
จะใช้คีมตัดเหล็กที่พกมา ตัดโซ่ที่ล็อกล้อไว้ แล้วขับกลับบ้านพัก จากนั้นนำรถไปขายที่ตลาดนัด บางส่วนนำไปขายตลาดนัดคลองถม เวลานำรถจักรยานมาขายแต่ละครั้งมีผู้สนใจจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ในช่วงกระแสนิยม ราคาจริงจะอยู่ที่ประมาณหมื่นต้นๆ แต่เอามาขายเพียงคันละ 8,000-9,000 บาท”
นี่คือคำสารภาพบางส่วนของโจรขโมยจักรยานเสือภูเขาตามย่านสุขุมวิท ช่างสะท้อนให้เห็นว่าภัยของนักปั่นช่างมีอยู่รอบทิศเสียจริงๆ คือนอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกถีบ, ถูกปล้น, ถูกขโมยจักรยานไปขายแล้ว มองดูให้ดีจะพบปัญหาเรื้อรังเรื่องเส้นทางขับขี่ที่แก้ไม่เคยตกด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้ง “อุดม บุญอ่อน” และ “นิคม สนอ่อน” จึงขอเป็นตัวแทนสิงห์นักปั่นฝากความลำบากเอาไว้ หวังเล็กๆ ว่าเรื่องจะไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้หันมาสนใจบ้าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ล้อติดฝาท่อ” ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว
“ถ้าให้พูดถึงภาพรวมเรื่องเลนจักรยานกรุงเทพฯ ทั้งหมด ผมว่าไม่รองรับการปั่นของพวกเราเลย โดยเฉพาะเรื่องฝาท่อ ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นตะแกรงแนวขวาง ยังเป็นตะแกรงแนวตั้งอยู่เลยอีกหลายที่ครับ ผมขี่ออกเส้นพระราม 9 ล้อติดฝาท่อมาแล้ว ลงมาแล้ว (หัวเราะเนือยๆ) เพราะว่าล้อจักรยานมันนิดเดียวไงครับ มันอันตรายมากไงครับ คือขี่แล้วล้มมันไม่เป็นอะไรเท่าไหร่หรอก แต่รถที่ตามมามันจะเหยียบเราสิ ในพันทิปที่เคยโพสต์ก็มี ล้อติดท่อแล้วโดนรถเหยียบหัว พวกเรายังไปงานศพกันอยู่เลย
เลนจักรยานในบ้านเราอย่างที่ผมเคยใช้ เส้นสุขุมวิทที่ให้เลนไปอยู่บนฟุตปาธแล้วพื้นถนนก็ไม่ปรับ ไหนเราจะไปขับเบียดกับคนเดินอีก ผมว่าที่คนเดินมันไม่ควรไปทำเลนจักรยานแบบนั้น ไหนจะมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างสวนเลนมาอีก แต่ว่าคนที่เขาปั่นก็ยังปั่นกันอยู่นะ ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (หัวเราะ) สภาพที่มันจำกัดให้มีอยู่แค่นั้น
การจราจรบ้านเรา ผมมองว่าเลนจักรยานในเมืองน่ะไม่จำเป็นเพราะตามท้องถนน เพราะรถมันก็ไปได้ของมันอยู่แล้ว แค่มีน้ำใจให้กันก็ปั่นไปได้ แต่ถ้าจะส่งเสริมให้คนปั่นจักรยานจริงๆ มันควรที่จะมีห้องอาบน้ำสาธารณะ เวลาคุณปั่นจักรยานไปทำงาน อาบน้ำปุ๊บ เปลี่ยนเสื้อผ้า เข้าทำงานได้เลย และอยากให้มีสนามปั่นที่เป็นของจักรยานจริงๆ มีเลนแยก ปั่นแล้วปลอดภัยจริงๆ”
ไม่ใช่ต้องคอยระแวงกลัว ถูกถีบ-ถูกปล้น-ถูกชน อย่างทุกวันนี้...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live