- หน้าแรก
- ข่าวชาวจักรยาน
- ครม.อนุมัติทำมาตรฐานเลนจักรยานครั้งแรกในไทย
ครม.อนุมัติทำมาตรฐานเลนจักรยานครั้งแรกในไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาเพื่อให้ทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำไปใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงการก่อสร้างและปรับปรุงทางจักรยานทั้งประเทศกว่า 2,352 กม.ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยปัจจุบันไทยมีทางจักรยานที่เปิดใช้แล้ว 566 กม.อยู่ระหว่างดำเนินการ 715 กม. และพัฒนาเพิ่มขึ้นอนาคต 1,071 กม.
การกำหนดมาตรฐานทางจักรยานครั้งนี้ เป็นไปตามแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทางจักรยานทั่วประเทศ มีมาตรฐานการใช้งานและสร้างแบบเดียวกัน หลังจากที่ผ่านมาคนไทย และชาวต่างชาตินิยมใช้จักรยานเพิ่ม แต่ทางจักรยานในไทยยังไม่ค่อยเหมือนกัน เช่น บางทางทาสีเขียว สีน้ำเงิน สัญญาณไฟ ป้ายบอกทางก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งต่อไปทุกเส้นทางต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย และการท่องเที่ยวด้วย ส่วนการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป”
ทั้งนี้ ครม.ยังให้กระทรวงคมนาคม เร่งปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเดินเท้าและการใช้จักรยานเพื่อจูงใจให้คนใช้ จักรยานเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งทำระบบเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจักรยานในท้องถิ่นทั่วประเทศและประชาสัมพันธ์ ข้อมูลเส้นทางจักรยาน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยต้องแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและข้อบัญญัติท้องถิ่น ให้เจ้าของอาคารขนาดใหญ่ สถานีขนส่งต่าง ๆ ต้องมีที่จอดจักรยานตามที่กำหนด รวมถึงให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะกับการเดิน เท้าและจักรยาน ตลอดจนกระทรวงการคลังออกมาตรการภาษี เพื่อจูงใจการใช้จักรยาน
นายอาคม กล่าวว่า รายละเอียดของการกำหนดมาตรฐานทางจักรยานนั้น มีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย มาตรฐานการแบ่งประเภทของทางจักรยาน โดยใช้หลักการความเร็วและปริมาณจราจร โดยเส้นทางที่มีรถยนต์ความเร็วต่ำกว่า 30 กม.ต่อชั่วโมง และการจราจรไม่เกิน 3,000-5,000 คันต่อวันต่อปี ให้ใช้ช่องทางจราจรร่วมกับยานพาหนะอื่นได้ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนนและที่จอดรถริมทาง เส้นทางที่มีรถยนต์ความเร็ว 30-50 กม.ต่อชั่วโมง และการจราจรไม่เกิน 3,000 คัน ให้ใช้ทางจราจรร่วมได้ แต่ถ้าการจราจรเพิ่มเป็น 3,000-5,000 คัน หรือเกิน 5,000 คัน ต้องจัดช่องทางสำหรับจักรยาน โดยตีเส้นแบ่งช่องจักรยานเป็นการเฉพาะ
ส่วนเส้นทางที่มีความเร็วรถยนต์ 50-70 กม.ต้องจัดช่องทางสำหรับจักรยาน โดยตีเส้นแบ่งช่องจักรยานเป็นการเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไหล่ทาง หรือแยกทางจราจรออกจากช่องทางปกติ เส้นทางที่รถมีความเร็วเกิน 70 กม.ต่อชั่วโมงให้จัดทำทางจักรยานแบบเฉพาะ เช่น ไหล่ทางที่มีแนวหรืออุปกรณ์กั้น และกรณีปริมาณจราจรเกิน 10,000 คันต่อวัน และรถมีความเร็วเกิน 80 กม. ต้องก่อสร้างทางจักรยานอยู่นอกพื้นที่กันเพื่อความปลอดภัย รวมถึงกรณีมีรถขนาดใหญ่วิ่งเกิน 30 คันต่อชั่วโมงในช่องจราจรริม ควรแยกคันทางหรือควรมีพื้นที่ว่างคั่นระหว่างจักรยานกับรถยนต์ ที่สำคัญหากผู้ขับขี่เป็นเด็กและผู้มีประสบการณ์ขี่จักรยานน้อย ต้องจัดพื้นที่เฉพาะเพื่อแยกจากถนน
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดที่จอดรถจักรยาน โดยใช้หลักเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกา เช่น ที่พักอาศัย ต้องมีที่จอดจักรยาน 1 คัน ต่อ 3ห้อง โรงแรมมีจุดจอดจักรยาน 1 คัน ต่อพนักงาน 20 คน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย มีที่จอดจักรยาน 1 คัน ต่อ 4 คน โรงพยาบาล ที่จอดจักรยาน 1 คัน ต่อ 20 คน ชอปปิงมอลล์ โรงภาพยนตร์ ที่จอดจักรยาน 1 คัน ต่อ 10 คน ย่านธุรกิจและย่านนิคมอุตสาหกรรม ที่จอดจักรยาน 1 คัน ต่อ 10 คน
รวมทั้งยังกำหนดมาตรฐานการออกแบบทางกายภาพของจักรยาน เช่น มาตรฐานความเร็วและระยะการหยุดที่ปลอดภัย ระบบป้ายจราจร การออกแบบทางโค้งราบ โค้งดิ่ง รวมถึงทางแยก เช่นเดียวการออกแบบชั้นผิวทางจักรยานต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแอชโต ของสหรัฐอเมริกา เช่น ผิวทางจักรยานที่แยกต้องมีผิวแอสฟัลท์ 5 ซม. ชั้นพื้นทาง 15 ซม.รองพื้นทาง 15-30 ซม.รวมถึงการออกแบบสัญลักษณ์ป้ายจราจร การติดตั้งป้าย ระบบไฟกระพริบ และแสงสว่างต้องมี่มาตรฐานเดียวกัน ความ“