- หน้าแรก
- ข่าวชาวจักรยาน
- แผนพัฒนาเส้นทางจักรยาน คืนความสุขให้นักปั่นทั่วประเทศ
แผนพัฒนาเส้นทางจักรยาน คืนความสุขให้นักปั่นทั่วประเทศ
ในโลกแห่งความจริงทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าด้วยสภาพบนท้องถนนกระทั่งตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดของประเทศไทย แทบจะไม่ค่อยมีทางให้รถจักรยานและไม่เอื้ออำนวยต่อการปั่นมากนัก ก็เป็นอย่างที่ทราบกันมา กระแสจักรยานกำลังมาแรง ผู้คนหันมา
เปิดแผนพัฒนาเส้นทางจักรยาน คืนความสุขให้นักปั่นทั่วประเทศ
ปัจจุบันการขี่จักรยานกลายเป็นกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนไทยไล่ตั้งแต่การขี่เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อออกกำลังกายหรือเพื่อการท่องเที่ยวสันทนาการ เพราะนอกจากช่วยให้เพลิดเพลินและร่างกายแข็งแรงแล้วยังถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดและประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้อีกมาก
แต่ในโลกแห่งความจริงยามเช้าวันนี้ต้องยอมรับว่าด้วยสภาพบนท้องถนนกระทั่งตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดของประเทศไทย แทบจะไม่ค่อยมีทางให้รถจักรยานและไม่เอื้ออำนวยต่อการปั่นมากนักไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสะดวกในเส้นทางรวมถึงความปลอดภัยในการขับขี่ ถ้าคิดจะขี่ก็ต้องเสี่ยงชีวิตตลอดการขับขี่บนท้องถนนแทบทุกวินาทีกันเลยทีเดียว จึงเป็นที่มาให้รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งสั่งการให้พัฒนาเส้นทางส่งเสริมการใช้จักรยานให้เหมือนกับเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้วของประเทศต่าง ๆ เพื่อคืนอีกหนึ่งความสุขให้คนไทย
เส้นทางจักรยานพร้อมแล้วสำหรับนักปั่น
กระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าภาพหลักอย่างเป็นทางการอ้าแขนรับผิดชอบดูแลการจัดทำเส้นทางจักรยานได้รวบรวมข้อมูลเส้นทางจักรยานทั่วประเทศพบว่ามีทั้งสิ้น 774 กิโลเมตร กระจายออกไปอยู่ภายใต้การดูแลของ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงคมนาคม 316 กม. กรุงเทพมหานคร (กทม.) 323 กม. และหน่วยงานส่วนภูมิภาค 134 กม. ถือว่ายังไม่มากแต่หลังจากรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ใช้จักรยานอย่างจริงจังก็มีแผนเพิ่มเส้นทางเป็น 3,016 กม. ภายใน 2 ปีนี้ หรือมากกว่าเดิม 4 เท่าตัว
พร้อมทั้งเร่งแนะนำทางจักรยานที่สามารถใช้งานได้แล้วทั่วประเทศให้นักปั่นจักรยาน ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ รับทราบ ออกไปปั่นจักรยานกัน โดยขณะนี้ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีเส้นทางที่น่าสนใจพร้อมให้ออกไปปั่นกันแล้วหลายเส้นทาง
ที่ฮิตติดลมบนอันดับ 1 ต้องยกให้เส้นทางจักรยานในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 สนามบินที่มีทางจักรยานดีที่สุดในโลก ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคารไทยพาณิชย์ ทุ่มงบประมาณกว่า 329 ล้านบาท ก่อสร้าง และซ่อมบำรุงเส้นทางจักรยานสำหรับออกกำลังกายทั้งเส้นทางสายหลัก สายรองความยาว 24.5 กม. ภายในประกอบด้วยทางลู่ปั่นจักรยานมาตรฐานระดับโลก จุดพัก ป้ายสัญญาณ ห้องน้ำร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ตลอดจนระบบรักษาความปลอดภัยเช่น ระบบกล้องวงจรปิด ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สำหรับให้บริการเวลากลางคืนรวมถึงใช้เทคโนโลยี อาร์เอฟไอดีลงทะเบียนผู้ปั่นจักรยานเพื่อตรวจสอบการผ่านเข้า-ออกด้วย
ต่อมาคือ เส้นทางจักรยานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนเมืองโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานได้ไปออกกำลังกายพักผ่อนในบรรยากาศผ่อนคลายระยะทาง 3.7 กม. ซึ่งปัจจุบันความนิยมก็ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ สถิติล่าสุดมีนักปั่นมาใช้บริการมากกว่าวันละ 1,000 คน
นอกจากนี้ยังมี เส้นทางจักรยานกรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ระยะทาง 2 กม. เน้นอำนวยความสะดวกให้ข้าราชการและประชาชน ผู้มาติดต่อราชการและ เส้นทางจักรยานโครงการทางจักรยานในเขตทางพิเศษศรีรัช ถนนงามวงศ์วาน-ถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทาง 4.7 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางเพื่อแก้ปัญหาจราจรรถติดเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 ที่ผ่านมา
ไปดูเส้นทางจักรยานในต่างจังหวัดกันบ้างไฮไลต์อันดับ 1 คือเส้นทางจักรยานถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ถนนสายเลียบทะเลระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งถือเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวกลุ่มภาคตะวันออกระยะทาง 88.4 กม. จัดเป็นถนนสายโรแมนติกที่มีความสวยงามที่สุดบริเวณเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกผ่านหาดคุ้งวิมาน อ่าวคุ้งกระเบน หาดแหลมสิงห์ ที่สำคัญเส้นทางจักรยานนี้ได้ถูกบรรจุให้เป็น 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวในฝัน “ดรีม เดสทิเนชั่น” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เส้นทางจักรยานถนนสายเลี่ยงเมือง บ.ทุ่งเสี้ยว-บ.สันป่าตอง-บ.หางดง จ.เชียงใหม่ ระยะทาง 13 กม. เส้นทางจักรยานถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก จ.ระยองจ.จันทบุรี จ.ตราด ระยะทางรวม 104 กม. เส้นทางจักรยานถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์จ.ชุมพร จ.ระนอง ระยะทางรวม 114 กม. เส้นทางจักรยานถนน นฐ.3054 อ.ลาดบัวหลวง อ.สองพี่น้อง อ.บางเลน จ.นครปฐม ระยะทาง 14.7 กม. และเส้นทางจักรยานถนนชลประทาน (เลียบคลองพระยาบันลือฝั่งใต้) อ.สองพี่น้อง จ.นครปฐม ระยะทาง 9.5 กม.
เส้นทางจักรยานที่กำลังปรับปรุง
นอกจากเส้นทางจักรยานที่เปิดให้นักปั่นไปแล้วกระทรวงคมนาคมยังวางแผนเชิงรุกเล็งที่จะพัฒนาเส้นทางจักรยานที่น่าสนใจอีกหลายโครงการ โดยมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 54 กม. และมีแผนสร้างในอนาคตอีก 884 กม. ซึ่งจะทำต่อไปใน 2 ปีข้างหน้าหรือไม่เกินปี 59 จะมีเส้นทางจักรยานในการดูแลของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้บริการประชาชนได้เพิ่มเป็น 1,256 กม.
โดยโครงการทางจักรยานน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การร่วมมือของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำเส้นทางจักรยานเพื่อออกกำลังกาย ในพื้นที่แอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน,การจัดทำทางด่วนพิเศษจักรยานไบซิเคิล เอ็กซ์เพรสเวย์ช่วงรามอินทรา-พระราม 9 และช่วงพระราม 9-แยกอโศก-รัชดาระยะทาง 17.45 กม.การจัดทำเส้นทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีลาดกระบังการทำเส้นทางจักรยานขนส่งผู้โดยสารในสถานีขนส่งกรุงเทพฯหรือหมอชิต 2 ตลอดจนการทำเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล 140 จุด ซึ่งขณะนี้ได้ออกแบบเบื้องต้นแล้ว 3 จุด ได้แก่ บริเวณสถานีรถโดยสารและรถไฟฟ้าหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าพญาไท และบริเวณท่าเรือปากเกร็ด
ส่วนโครงการพัฒนาเส้นทางในต่างจังหวัดส่วนแรกได้สร้างเพิ่มในหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม เช่น เส้นทางจักรยานในท่าอากาศยานเชียงใหม่บริเวณบ้านพักเก่าของพนักงาน ในท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายระยะทาง 6 กม. และเส้นทางจักรยานท่าอากาศยานภูเก็ตชื่อเส้นทางปั่นธรรมชาติระยะทาง 20 กม. รวมถึงเส้นทางจักรยานเลียบเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 9 กม. ที่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.นครหลวง อ.ท่าเรือ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา
ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาเส้นทางหลวงหลายเส้นทางให้เป็นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวประกอบด้วย เส้นทางจักรยานทางหลวงหมายเลข 121 ระยะทาง 4.56 กม. ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เส้นทางจักรยานทางหลวงหมายเลข 2034 ระยะทาง 7 กม. ต.นาสีนวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร เส้นทางจักรยานทางหลวงหมายเลข 3049 ระยะทาง 5.8 กม. ตอนนครนายก-น้ำตกนางรอง จ.นครนายก เส้นทางจักรยาน ทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง 2.2 กม. อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
ด้านถนนของกรมทางหลวงชนบทก็ไม่ยอมน้อยหน้ามีแผนสร้างเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการเพิ่มอีก 10 เส้นทาง ด้วยกัน คือ เส้นทางจักรยานถนนพุทธสาคร ระยะทาง 7.4 กม. อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เส้นทางจักรยานถนนสาย ก ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ระยะทาง 2.28 กม. เส้นทางจักรยานสาย สฏ.3062 แยกทางหลวง 401 บริเวณเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เส้นทางจักรยานถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกอ่าวไทย อ.กระบุรี จ.ระนอง ระยะทาง 9.49 กม. เส้นทางจักรยานถนนสายริมทะเลสาบสงขลา บ.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ระยะทาง 80 กม.
เส้นทางจักรยานสายแยก ทล.3097 ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม ระยะทาง 3.5 กม. เส้นทางจักรยานสายบ้านใต้-หาดริ้น อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 3.6 กม. เส้นทางจักรยานแยก ทบ.37 โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 10.5 กม. เส้นทางจักรยานถนนเลียบชายทะเลด้านตะวันตกอ่าวไทย จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง ระยะทางรวมเพิ่มอีก 368 กม. และเส้นทางจักรยานโครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ระยะทาง 15 กม.
แผนอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม
อนาคต “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รมว.คมนาคม ยังสั่งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้องพัฒนาทางจักรยานให้ครบ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายใน 2 ปี หรือปี 59 โดยให้ใช้พื้นที่ภายในหน่วยงานหรือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อจัดเป็นโครงการคืนกำไรให้สังคมและต้องใช้วัสดุผสมจากยางพาราเพื่อเป็นการอุดหนุนเกษตรกรช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอีกด้วย รวมถึงให้กรมทางหลวงเร่งใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 400 ล้านบาท เพื่อสร้าง 13 เส้นทางจักรยานและกรมทางหลวงชนบทสร้างเพิ่มอีก 22 เส้นทางในงบประมาณอีก 164 ล้านบาท
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังเพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่นักปั่นจักรยาน โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทขนส่ง จำกัดต้องจัดให้ขบวนรถหรือเที่ยวรถที่มีเส้นทางไกลกว่า 50 กม. ให้สามารถนำจักรยานขึ้นไปบนรถทัวร์หรือขบวนรถไฟได้และให้คิดค่าบริการจักรยานให้เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักปั่นที่ต้องการเดินทางไปขี่จักรยานในต่างจังหวัดตลอดจนมีแผนจัดเตรียมที่จอดจักรยานในทุกสถานีรถไฟและสถานีขนส่งด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนการขี่จักรยานในเมืองก็จะพิจารณาทำจุดจอดจักรยานตามสถานีรถไฟฟ้าป้องกันไม่ให้มีการลักขโมยจักรยานเกิดขึ้น
พร้อมทั้งให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานเส้นทางจักรยาน มาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในแบบฉบับสากลให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ เช่นเดียวกับกรมการขนส่งทางบกจะเข้ามาช่วยเดินสายอบรมให้ความรู้กับผู้ขับขี่จักรยานให้ปลอดภัยในการเดินทางและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) ศึกษาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยจักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายและมาตรการในการใช้จักรยานเพื่อความปลอดภัยและสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วน เส้นทางจักรยานของกรุงเทพมหานคร ตอนนี้กทม.มีทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว 31 เส้นทางกำลังดำเนินการอีก 10 เส้นทาง เส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว 137 เส้นทาง กำลังดำเนินการ 193 เส้นทาง และเส้นทางเพื่อออกกำลังกายรอบแก้มลิงบึงมะขามเทศและบึงสะแกงามสามเดือน 4.2 กม. ส่วนทางจักรยานของหน่วยงานท้องถิ่นเทศบาล ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 16 จังหวัด 134 กม. และมีโครงการกำลังดำเนินการอยู่ 10 เส้นทางระยะทางรวม 55 กม. และขณะนี้มีอีกหลายจังหวัดกำลังจัดทำโครงการขอสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มีงบประมาณในการจัดทำทางจักรยาน 1,000 ล้านบาท
การผลักดันส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจังของรัฐบาลชุดนี้ถือได้ว่าเป็นอีกมิติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยแบบไม่เคยมีมาก่อนก็น่าชื่นชมกับนโยบาย แต่สิ่งที่จำเป็นหลังจากนี้ต่อไปคือการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวเพื่อให้การขี่จักรยานกลายเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งในการเดินทางของคนไทยอย่างแท้จริง.
ศักดิ์ชัย อินทร์จันทร์